สงขลา 18 ก.พ.- “เผ่าภูมิ” รมช.คลัง เผยคลังพร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าหลังจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 ขยายตัว 2.8% ถือว่าเป็นตัวเลขที่แต่ละสำนักจะประเมิน ตัวเลขที่แตกต่างกัน และมีสมุติฐานที่ต่างกัน ซึ่งกระทรวงการคลังเอง ประเมินไว้ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัว 3% และจำเป็นต้องเร่งทำให้ได้ตามเป้าหมาย
ส่วนกรณีที่ สศช. แนะนำว่า จะต้องออกแพ็คเกจกระตุ้นการลงทุนออกมาในปีนี้เพิ่มเติมนั้น มองว่า เรื่องนี้เห็นตรงกันกับรัฐบาล เพราะการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญกับการวางโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาว จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการออกนโยบายสำคัญ เช่น การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) หรือสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เช่นเดียวกับการส่งเสริมตลาดยานยนต์ในไทย ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังเตรียมปรับปรุงโครงสร้างภาษี และการดึงดูดแหล่งเงินใหม่ๆ เข้ามาลงทุนในประเทศ
ขณะที่แนวโน้มการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ รัฐบาลจะมีแนวคิดดึงเงินส่วนหนึ่งของโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1.5 แสนล้านบาท มากระตุ้นการลงทุนหรือไม่นั้น เห็นว่า จะต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่า เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2-3 จะกระจายเงินในลักษณะ ใด เพื่อรักษาโมเมนตัมทางเศรษฐกิจ
“รัฐบาลมีแผนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจแย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2-3 เพราะในช่วงไตรมาสแรกจะมีแรงส่งอยู่ โดยจะมีมาตรการภาษีและมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย รวมทั้งมาตรการด้านสินเชื่อ เพื่อกระจายเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ ส่วนวงเงินที่จะเอามาใช้นั้นตอนนี้ขอให้รอข้อสรุปอีกครั้ง เพราะทุกอย่างอยู่ในกระบวนการ” นายเผ่าภูมิ กล่าว
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ส่วนตลาดรถยนต์ที่ชะลอตัวลงในปี 2567 รัฐบาลมองว่า เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นผลมาจากการปล่อยสินเชื่อน้อยกว่าที่ควรเป็น ซึ่งรัฐบาลกำลังจะมีมาตรการเกี่ยวกับการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่มรถกระบะออกมาเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกันตลาดรถยนต์ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมด้วย จึงทำให้ตลาดรถยนต์ในปีที่แล้วปรับตัวลดลง แต่รัฐบาลก็เชื่อว่ามาตรการต่างๆ ที่มี เช่นมาตรการ EV 3.5 จะช่วยประคับประคองได้
ส่วนการประชุม กนง.ครั้งต่อไปนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า ก็หวังว่าจะมีข่าวดี แต่ก็เป็นอำนาจของ กนง. ซึ่งรัฐบาลก็อยากให้ปรับนโยบายทางการเงินให้เกิดความเหมาะสม สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งกรอบอยู่ที่ 1-3% หากเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบก็ควรพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายและปัจจัยอื่น ๆ ลงด้วย .314.-สำนักข่าวไทย