ก.ต่างประเทศ 6 ก.พ.-ที่ปรึกษา รมว.กต.ยืนยัน รบ.-กต.ช่วยเหลือ 4 ลูกเรือประมงไทยเต็มที่ พร้อมเปิดเผยไทม์ไลน์การช่วยเหลือหลังถูกกล่าวหาไม่ใส่ใจ ย้ำพร้อมรับการติดต่อประสานช่วยเหลือให้ครบถ้วน
นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงถึงกรณีที่มีผู้กล่าวหากระทรวงการต่างประเทศ ไม่ใส่ใจดูแลลูกเรือประมงที่ถูกทางการเมียนมาควบคุมตัวทั้ง 4 รวมถึงครอบครัวด้วยนั้น โดยยืนยันว่า ไม่เป็นความจริงและเป็นไปไม่ได้เลย ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไม่ใส่ใจให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากและยืนยันว่า ที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดต่อให้ความช่วยเหลือคนไทยลูกเรือทั้ง 4 คน และช่วยเหลือครอบครัวของลูกเรือทั้ง 4 คน
ที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้ชี้แจงช่วงเวลาการให้ความช่วยเหลือลูกเรือประมงไทย ทั้ง 4 คน และครอบครัวของลูกเรือที่ได้รับผลกระทบ ตามการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศ, กรมการกงสุล และสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงย่างกุ้งว่า ตั้งแต่มีรายงานข่าวว่า ทางการเมียนมาจะปล่อยตัวลูกเรือทั้ง 4 คนนั้น ตั้งแต่วันที่ 4 ถึง 12 ธันวาคม 2567 รักษาการหัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวสุราษฎร์ธานี เป็นผู้แทนกระทรวงฯ เดินทางไปประสานงานกับส่วนราชการในจังหวัดระนอง และเตรียมการรับตัวลูกเรือประมงไทยทั้ง 4 คน
ในวันที่ 9 ธันวาคม 2567 รักษาการหัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวสุราษฎร์ธานี เป็นผู้แทนกระทรวงฯ พบกับครอบครัวของลูกเรือประมงไทยทั้ง 4 คน ทั้งนางปริญกมร ธัญชร ภรรยาของนายวิโรจน์ สะพานทอง ณ นคร และญาติของนายสมปอง วิวัฒน์, นางสาวกลมชนก มงกุฎทอง บุตรสาวของนายสุนันท์ มงกุฎทอง, และนางสาววรรณทกานต์ พรหมนิมิต บุตรสาวของนายถาวร พรหมนิมิตร เพื่อแสดงความห่วงใย และเน้นย้ำว่า กระทรวงฯ และสถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีหมายเลขติดต่อของญาติของลูกเรือประมงทั้ง 4 คนแล้ว พร้อมแจ้งช่องทางการติดต่อสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว สุราษฎร์ธานี และกรมการกงสุล
ในวันที่ 18 ธันวาคม 2567 รักษาการหัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวสุราษฎร์ธานี ได้พบกับนางปริญกมร ภรรยาของนายวิโรจน์ และญาติของลูกเรือประมงที่กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล เพื่อรับหนังสือขอรับความช่วยเหลืออีกครั้ง พร้อมยังได้แนะนำให้นางปริญกมรฯ เขียนคำร้องขอรับความช่วยเหลือ เพื่อเร่งประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงย่างกุ้ง และกรมการกงสุลได้ส่งเรื่องให้สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้งดำเนินการทันที ก่อนที่กระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา อนุญาติให้ญาติของลูกเรือประมงไทย เข้าเยี่ยมลูกเรือประมงไทยทั้ง 4 คนที่เรือนจำเกาะสองในวันเดียวกัน
นอกจากนั้น ฝ่ายเมียนมา ยังได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สถานทูต กับญาติของลูกเรือเพียง 1 คน สามารถเป็นตัวแทนเข้าเยี่ยมลูกเรือประมงทั้ง 4 ได้ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา โดยนางปริญกมร เป็นผู้แทนของครอบครัวลูกเรือประมงไทยเข้าเยี่ยมพร้อมกับเจ้าหน้าที่สถานทูตฯ ในวันดังกล่าว และยังมีเจ้าหน้าที่สถานทูต ได้พูดคุยโทรศัพท์กับลูกเรือประมงไทยทั้ง 4 เพื่อสอบถามความเป็นอยู่ และติดตามสภาพจิตใจรวมทั้ง จะเร่งประสาน กับฝ่ายเมียนมา เพื่อให้ส่งกลับลูกเรือประมงโดยเร็ว
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ยังมีญาติของลูกเรือประมง ได้โทรศัพท์ติดต่อสอบถามความคืบหน้าในการช่วยเหลือลูกเรือประมงกับเจ้าหน้าที่กองคุ้มครองฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ แจ้งว่า สถานเอกอัครราชทูตฯ กำลังติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากมีพัฒนาการใด ๆ จะแจ้งให้ทราบในโอกาสแรก
ที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงขอยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้ติดต่อญาติหลายคนตามรายชื่อที่ปรากฏเป็นข่าวแล้ว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม 2567 แต่รายชื่อที่ปรากฏในข่าว มีต่างกันเพียง 2 คน ซึ่งอยู่ในครอบครัวเดียวกัน และทันทีที่ทราบเรื่องนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้ให้กรมการกงสุลติดต่อไปทันทีแล้ว และพร้อมรับการติดต่อประสานช่วยเหลือ ในกรณีที่มีการตกหล่นใด ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างครบถ้วนต่อไป พร้อมขอวิงวอนว่า ไม่อยากให้นำเอาประเด็นเรื่องลูกเรือทั้ง 4 มาเป็นประเด็นทางการเมืองเนื่องจากจะทำให้การเจรจาช่วยเหลือ ที่จะนำไปสู่การปล่อยตัวอย่างเป็นรูปธรรมจะยากขึ้น หากมีข้อบกพร่อง ยินดีน้อมรับข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนจริงๆแน่นอน.-312.-สำนักข่าวไทย