รัฐสภา 20 ม.ค.- “รมช.กลาโหม” แจงมาตรการแก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตามแนวชายแดน ย้ำยึดหลักปฏิบัติภายใต้หลักมนุษยธรรม บังคับใช้ กม.อย่างเคร่งครัด ยอมรับมีการสมประโยชน์ของผู้ลักลอบแรงงานกับเจ้าหน้าที่รัฐ
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม เป็นผู้ตอบกระทู้ เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในบริเวณพื้นที่แนวชายแดน ของนายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สว.ถามนายกฯ ซึ่งนายไชยยงค์ กล่าวว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับ ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจำนวนมาก ทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา และอื่นๆ ซึ่งมักจะพบในจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางบกและทางน้ำ เช่น จังหวัดตาก กาญจนบุรี ระนอง สระแก้ว และชายแดนด้านอื่นๆ ทำให้เกิดปัญหาผู้หลบหนี้เข้ามา แรงงานต่างด้าว แรงงานข้ามชาติ การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยผ่านประเทศไทยเพื่อเดินทางไปประเทศที่ 3 เช่น มาเลเซีย ส่งผลกระทบต่อการเสริมสร้างความมั่นคงของชาติและทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะยาวสภาปัญหาดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และสำนักงงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น และยังพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งรับผิดชอบบริเวณชายแดนไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และอาจจะไม่ผลประโยชน์ทับซ้อน ส่งผลให้มีผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายมากขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาต่างๆมากมาย จึงอยากถามว่ารัฐบาลมีมาตรการป้องกันและแนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร
ด้านพล.อ.ณัฐพล ชี้แจงว่า ข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคง ระบุว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ก่อให้เกิดความต้องการแรงงานจากภายนอกประเทศเป็นจำนวนมากประกอบกับประเทศไทยมีพรมแดนมีพรมแดนทางบกที่ติดต่อกับประเทศรอบบ้านถึง 5,671 กิโลเมตร ทำให้เกิดกระบวนการนำแรงงานผิดกฎหมายเข้าเมืองผ่านพื้นที่ชายแดนอย่างต่อเนื่อง บางส่วนถูกนำเข้ามาถึงพื้นที่ชั้นใน จนอาจส่งผลกระทบด้านความมั่นคง ด้านสังคม และด้านสาธารณสุข ตลอดจนภาพลักษณ์ของประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลได้ตระหนัก และกำหนดนโยบายมาตรการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยมอบให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันจัดทำและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการบริหารชายแดนด้านความมั่นคง พ.ศ.2556-2570 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ตลอดจนนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2556-2570 เพื่อเป็นแนวทางให้กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องใช้ในการดูแลชายแดนร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคง กับการเสริมสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน ซึ่งมีหลายหน่วยงานร่วมกันรับผิดชอบ
รมช.กลาโหม กล่าวต่อว่า ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลมีนโยบายแผนและกลไกที่ชัดเจนเป็นระบบและมีเอกภาพในการบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนรวมถึงมาตรการป้องกันและแนวทางการแก้ปัญหาซึ่งมาตรการป้องกัน ประกอบไปด้วยการ เชื่อมโยงข้อมูลการสัญจรข้ามแดนระหว่างหน่วยงานเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่มีข้อมูลในการตรวจสอบติดตามการผ่านเข้าออก ตลอดจนตรวจจับและสกัดกั้นเคลื่อนย้ายคนและสิ่งของข้ามแดนที่ผิดกฎหมาย และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพของพื้นที่ชายแดน อาทิการใช้โดรน หุ่นยนต์ลาดตระเวน กล้องวงจรปิดแบบตรวจจับความร้อน หรือการสร้างรั้วป้องกันชายแดนในพื้นที่เสี่ยง สำหรับแนวทางแก้ไขประกอบด้วย 1.การใช้กลไกการจัดการชายแดนที่มีอยู่กับประเทศรอบบ้านเป็นเวทีในการหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหา โดยมีคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค ซึ่งมีแม่ทัพภาค เป็นประธาน และคณะกรรมการชายแดนทั่วไป มีรมว.กลาโหม เป็นประธาน 2.เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบสกัดกั้นการข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย การตั้งจุดตรวจและจุดสกัดทางบก มีการลาดตระเวนทั้งทางบกและทางน้ำโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง ที่เป็นท่าข้ามหรือช่องทางธรรมชาติ และติดตามตรวจสอบกลุ่มเป้าหมายหรือขบวนการลักลอบอย่างใกล้ชิด
พล.อ.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเดินทางไปยังประเทศที่ 3 รัฐบาลมีแนวทางจัดการกับผู้หลบหนีเข้าเมือง ให้สอดคล้องกับบริบทด้านความมั่นคงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชนโดยมีมาตรการและป้องกันแก้ไข คือ 1.การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเคร่งครัด 2. แสวงหาความร่วมมือ ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ 3. บริหารจัดการของภาครัฐเช่นระบบบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวจำแนกประเภทแรงงานต่างด้าว และ4. สนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนเช่นส่งกลับประเทศต้นทาง หรือส่งไปยังถิ่นฐานประเทศที่3
“การแก้ไขปัญหาดังกล่าวรัฐบาลให้ความสำคัญกับหลักปฏิบัติมนุษยธรรมและพันธะกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งผู้หลบหนีเข้าเมืองทุกกลุ่มจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันภายใต้เงื่อนไขทางกายภาพศาสนาและวัฒนธรรมควบคู่กับกฎหมายที่เกี่ยวข้องรวมถึงพันธะกรณีระหว่างประเทศ โดยคำนึงถึงหลักความมั่นคงของรัฐความปลอดภัยและหลักมนุษย์ชยธรรม รวมถึงหลักการที่ไม่ผลักดันไปสู่อันตราย” พล.อ.ณัฐพลกล่าว
รมช.กลาโหม กล่าวต่อว่า มีการแบ่งแนวทาง3 กรณี 1.เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์พ.ศ. 2551 โดยมีกลไกส่งต่อระดับชาติ 2.ลักลอบเข้าไทยให้ถือเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองปี 2522 โดยไทยมีอำนาจในการดำเนินคดีตาม แต่รัฐบาลจะดูแลตามหลักมนุษยธรรมอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีชีวิต ซึ่งเด็กผู้หญิงจะได้รับการดูแลจากบ้านพักเด็กและครอบครัว และ3.อพยพทางทะเลไปประเทศอื่นโดยมีไทยเป็นทางผ่าน เจ้าหน้าที่จะมาบังคับใช้กฎหมายภายในและคำนึงถึงมนุษยธรรมควบคู่กัน และไทยได้ดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจการกำหนดมาตรการและแนวทางการกักตัวเด็กไว้ในสถานที่กักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับอย่างเคร่งครัด และองค์การยูนิเซฟได้ทำขั้นตอนการช่วยเหลือแม่และเด็กโรฮิงญา ส่วนการแก้ไขปัญหากรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ที่มีหน้าที่ไปเกี่ยวข้องผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายบริเวณชายแดนนั้น รัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
นายไชยยงค์ ถามเพิ่มเติมว่า เกี่ยวกับการกำหนดยุทธศาสตร์ของ สมช.เพื่อให้หน่วยงานนำไปปฏิบัติ เช่น ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ ที่สถานการณ์ครุกรุ่นมาเป็นเวลากว่า 20 ปี แต่ รมว.กลาโหม สั่งยกร่างยุทธศาสตร์การดับไฟใต้ใหม่ ทั้งนี้เห็นว่ากว่า 20 ปีที่ผ่านมา หากยุทธศาสตร์ถูกต้อง ไฟใต้ต้องดับไปนานแล้ว เช่นเดียวกันกับยุทธศาสตร์ปัญหาความมั่นคงในชายแดน เห็นว่ายิ่งมีหน่วยงานเข้ามาบูรณาการแก้ไขปัญหาแรงงานเถื่อนมากเท่าไหร่ แต่ปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์กลับยิ่งเพิ่มขึ้น ดังนั้นเหตุใดรัฐบาลไม่หารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย เพื่อสกัดการลักลอบเข้าเมือง เพราะในพื้นที่ภาคใต้สถานการณ์แรงแรงงานเถื่อนยังเป็นไปโดยปกติและเพิ่มมากขึ้น
“ผมขอยกตัวอย่างให้ฟังรีสอร์ทในพื้นที่อำเภอแว้ง จ.นราธิวาส ที่ถูกตั้งขึ้น ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อรับนักท่องเที่ยว แต่ตั้งขึ้นเพื่อจะให้แรงงานเถื่อนทั้งหมดไปนำพักก่อนที่จะเดินทางข้ามประเทศไปยังมาเลเซีย สิ่งเหล่านี้เห็นอยู่ทุกวัน แต่ไม่ได้รับการแก้ปัญหา ตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องนี้เจ้าหน้าที่รัฐมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหรือไม่” นายไชยยงค์กล่าว
นายไชยยงค์ กล่าวต่อว่า ตนเห็นว่าการแก้ปัญหาความมั่นคงของรัฐมาจากการบูรณาการที่ไม่เป็นจริง และล้มเหลว เพราะจากการลงพื้นที่ของกมธ.ทหารฯ วุฒิสภา ติดตามปัญหาการบุกรุกด้านจ.แม่ฮ่องสอน ของว้าแดงที่ตั้งฐานทัพในชายแดนไทย สิ่งที่เราพบ พบว่าไม่มีถนนด้านความมั่นคง หรือถนนที่จะอำนวยความสะดวกในการทำให้เจ้าที่รัฐมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาและการปกปักรักษาอธิปไตยชายแดนไทย แม้กระทั่งฐานของทหารบางฐานยังต้องใช้ม้า ล่อ ในการส่งกำลังบำรุง
รมช.กลาโหม ชี้แจงว่า การเจรจาระหว่างประเทศได้มีการดำเนินการแล้ว เกี่ยวกับแรงงานในระบบ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นแรงงานนอกระบบ รัฐบาลก็พบว่าเป็นการสมประโยชน์ของผู้ประกอบการบางส่วน และผู้ลักลอบแรงงานเข้ามาในบางส่วน และกระบวนการลักลอบและเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่เอื้อประโยชน์ เพราะฉะนั้นทำให้รัฐบาลต้องมีการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาต่อไป ส่วนเรื่องการทำถนนในบริเวณชายแดนไปยังฐานทัพ จะพยายามดำเนินการและให้กระทบต่อพื้นที่ป่าไม้น้อยที่สุด.-319 .-สำนักข่าวไทย