กทม. 2 ม.ค. – รับศักราชใหม่ปี 68 สุราษฎร์ธานีขึ้นแท่นแชมป์อุบัติเหตุ – บาดเจ็บ – เสียชีวิต ผลจากอุบัติเหตุใหญ่รถบัสเสียหลักพลัดตกข้างทางเมื่อคืนนี้ พร้อมถอดบทเรียนหามาตรการป้องกัน ขณะที่ยอดล่าสุด 6 วัน ตาย 272 ราย
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานแถลงข่าวการประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 และแถลงข้อมูลช่วง 10 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 2567 ถึง 5 ม.ค. 2568 วันที่ 6 (1ม.ค.) ว่า เกิดอุบัติเหตุ 339 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต จำนวน 50 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.14 ผู้บาดเจ็บจำนวน 346 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.52 โดยจังหวัดเกิดอุบัติเหตุสูงสุด สุราษฎร์ธานี จำนวน 24 ครั้ง รองลงมาคือ สงขลา 13 ครั้ง ประจวบคีรีขันธ์และลพบุรี 12 ครั้ง
ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ สุราษฎร์ธานี 7 ราย รองลงมาคือ ประจวบคีรีขันธ์ มหาสารคาม และสระแก้ว 3 รายและปทุมธานี ศรีสะเกษ สกลนคร อุดรธานี เชียงใหม่ และเพชรบุรี 2 ราย
สำหรับจังหวัดที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บสูงสุดคือ สุราษฎร์ธานี 36 คน รองลงมา ได้แก่ ลพบุรี 13 คน และราชบุรี สงขลา 12 คน
สาเหตุของอุบัติเหตุ ที่เกิดขึ้นมากที่สุดมีมูลเหตุสันนิษฐานจากการขับรถเร็ว เกินกว่ากฎหมายร้อยละ 38.94 ดื่มแล้วขับ 31.56% ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ รถ จักรยานยนต์ ร้อยละ 86.42
ช่วงเวลาที่เกิดเหตุสูงสุดคือ 00.01-03.00 ร้อยละ 28.61 พฤติกรรมเสี่ยงของผู้ประสบเหตุสูงสุดได้แก่ไม่มีอุปกรณ์นิรภัยร้อยละ 70.96 ประเภทถนนลักษณะจุดเกิดเหตุประเภท อปท ร้อยละ 47.78 ลักษณะถนนทางตรงร้อยละ 81.12 เพศชายประสบอุบัติเหตุสูงสุดที่ร้อยละ 68.94 ส่วนช่วงอายุที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 24.49
ส่วนจำนวนอุบัติเหตุสะสมระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 – 1 มกราคม 2568 รวม 6 วัน มีจำนวนอุบัติเหตุสะสม 1,739 ครั้ง จำนวนผู้เสีย ชีวิต 272 ราย จำนวนผู้บาดเจ็บ 1,694 คน
- จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ สุราษฎร์ธานี 63 ครั้งรองลงมาได้แก่ภูเก็ต 53 ครั้งและเชียงราย 50 ครั้ง
- จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 12 รายรองลงมาที่เขตกรุงเทพมหานคร 11 รายและนนทบุรีและอุดรธานี 10 ราย
- จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุดได้แก่ สุราษฎร์ธานี 73 คนรองลงมาได้แก่ภูเก็ต 54 คนและชุมพร 50 คน
ทั้งนี้ ข้อมูลเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยย้อนหลังสามปีลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละห้าเมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลปีใหม่เฉลี่ยสามปีย้อนหลัง 2565 ถึง 2567
อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยังระบุว่า ที่ประชุมมีข้อสั่งการยังคงให้ แต่ละจังหวัดให้ความสำคัญกับการตั้งด่านจุดตรวจ จุดสกัดบนถนนสายหลัก เป็นระยะ เพื่อป้องกันตรวจตรา ป้องปรามการกระทำผิดกฎหมายจราจร ทั้งการขับรถเร็วดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัยไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ให้จังหวัดดูแลความปลอดภัยอำนวยความสะดวกการจราจรในการเดินทางอย่างต่อเนื่อง ตรวจสอบประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ตกค้างตามสถานีขนส่งต่างๆ เพื่อให้สามารถเดินทางสู่จุดหมายได้อย่างปลอดภัย และให้ทางจังหวัดเน้นย้ำสำนักงานขนส่งจังหวัดในการตรวจสอบความพร้อมพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ รับขนส่งสินค้า ปฏิบัติงานติดต่อไม่เกิน 4 ชั่วโมง หรือหยุดพักขับรถครึ่งชั่วโมงก่อนที่จะขับต่อ 4 ชั่วโมงหรือมีพนักงานขับรถสับเปลี่ยนอย่างน้อย 2 คน
ส่วนกรณีเกิดอุบัติเหตุใหญ่ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเมื่อคืนนี้ และส่งผลให้ตัวเลขของจังหวัดสุราษฎร์ธานีพุ่งสูงขึ้นกว่าจังหวัดอื่นๆนั้น อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ได้ให้ทางจังหวัดตรวจสอบสาเหตุอย่างแท้จริง ทั้งสภาพรถ สันนิษฐานเบื้องต้นว่า น่าจะมีการหลับใน และสภาพถนนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง แสงสว่างไม่เพียงพอ รวมถึงไม่มีการตีเส้นจราจร พร้อมให้ทางจังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งเกิดอุบัติเหตุจำนวนครั้งสูงสุด รวมทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ได้ทบทวน และถอดบทเรียน ในเรื่องของมาตรการป้องกันลดอุบัติเหตุต่อไป
พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรวง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า อยากให้สื่อมวลชน เพิ่มความเข้มข้นในการนำเสนอข่าวประชาสัมพันธ์ ว่าภาครัฐดูแลความปลอดภัยทางถนนให้อยู่แล้ว พื้นที่เส้นทางต่างๆที่ไม่เรียบร้อยปรับปรุงแก้ไข เพิ่มสัญญาณไฟ และพื้นผิวจราจรเพิ่มเติมแต่ปัจจัยสำคัญคือความพร้อมของคนขับ จึงขอฝาก แจ้งเตือนประชาชนเน้นย้ำเพื่อเพิ่มความปลอดภัย.-319 -สำนักข่าวไทย