ทำเนียบ 12 พ.ย.- “ประเสริฐ” เผยเร่งค้นหาเด็กนอกระบบ ดึงผู้ว่า 77 จังหวัดเป็นแม่ทัพ ระดมทุกหน่วยในพื้นที่ ทั้งอำเภอ ตำบล ค้นหา ช่วยเหลือ ทุกมิติปัญหา เน้นมาตรการ Learn to Earn ของรัฐบาลพาเด็กกลับสู่เส้นทางการศึกษายืดหยุ่นและมีรายได้ระหว่างเรียน
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ บอร์ด คกศ. (Thailand Zero Dropout) โดยมี ดร. ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการ เข้าร่วมประชุมด้วย ผลการประชุมครั้งแรก ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่และอำนาจในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาของชาติ ซึ่งจะเป็นการดำเนินงานตามนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล นำโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นระบบ โดยเร่งส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังและความสามารถ ให้เป็นไปตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล 9 ข้อ ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 และการสร้างการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) โดยทำงานในเชิงระบบ เพื่อความยั่งยืนและต่อเนื่อง แก้ปัญหาใน 4 ประเด็น ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567
รองนายกรัฐมนตรีฯ และประธานคณะกรรมการ TZD กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้มีมติ ผลักดัน 4 ประเด็นเร่งด่วน เพื่อยกระดับการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาทั้ง 1.02 ล้านคน ดังนี้
- ปลดล็อกการเชื่อมโยงข้อมูลเด็กเยาวชนรายบุคคลระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การค้นหาและส่งต่อเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยสนับสนุนการพาเด็กเยาวชนเข้าสู่เส้นทางการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมทั้งการพัฒนาทักษะการมีงานทำให้สามารถดำเนินการได้รวดเร็วมากขึ้น โดยที่ประชุมบอร์ด คกศ. ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ เพื่อเร่งติดตามสถานการณ์ข้อมูลรายบุคคลของเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาในปีการศึกษา 2/2567 และบูรณาการการทำงานด้านข้อมูลร่วมกับหน่วยงานหลักต่างๆ ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมการบูรณาการงบประมาณจากระบบสวัสดิการจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สปสช. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกเหนือจากงบประมาณที่รัฐบาลได้จัดสรรให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
- กระตุ้นการทำงานระดับจังหวัดและพื้นที่เพื่อเริ่มต้นมาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาเป็นรายคน ทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ พัฒนาการ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ผ่านคณะกรรมการ 77 จังหวัด รวมทั้งระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ซึ่งหลังจากนี้จะมีหนังสือสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ระดับจังหวัด ทั้ง 77 จังหวัด ต่อไป
- ตั้งคณะอนุกรรมการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น และส่งเสริมการสร้างรายได้ของเด็กและเยาวชน เพื่อเร่งผลักดัน การจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่นและมีคุณภาพให้เหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย เน้นส่งเสริมการจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ควบคู่กับการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและให้มีรายได้เสริมในระหว่างการศึกษา โดยมีกระทรวงศึกษาธิการ กสศ. และสถาบันพัฒนาคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นฝ่ายเลขาของคณะอนุกรรมการชุดนี้
- กระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ ภาคเอกชน ด้วยมาตรการหรือกลไกทางภาษี เพื่อส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ควบคู่กับการทำงาน (Learn to Earn) สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อพัฒนาทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ศักยภาพของเด็ก และให้มีรายได้เสริมระหว่างการศึกษา โดยทางกระทรวงการคลัง สภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ กสศ. เป็นแกนหลักของเรื่องนี้
รองนายกรัฐมนตรีฯ และประธานคณะกรรมการ TZD กล่าวว่า ในที่ประชุม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ยังได้รายงานผลการเชื่อมโยงข้อมูลปีการศึกษา 1/2567 เฉพาะสังกัด สพฐ. และ อปท. พบว่า มีนักเรียนจากฐานข้อมูลจำนวน 1.02 ล้านคน เข้าเรียนในระบบการศึกษาแล้ว ทั้งสิ้น 139,690 คน คิดเป็นร้อยละ 13.6 ของจำนวนเด็กและเยาวชนที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษา และในจำนวนการกลับเข้าสู่ระบบดังกล่าว มีจำนวน 22,541 คน ที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) ของ กสศ. ในการบรรเทาอุปสรรคการมาเรียน เพื่อเป็นการป้องกันการหลุดจากระบบการศึกษาซ้ำ
“ในจำนวนที่เข้ามาเรียนนี้ ส่วนใหญ่เป็น เด็กชั้นอนุบาล และป.1 ที่เข้าเรียนช้า ซึ่งในอนาคต เราพยายาม สร้างความรู้ความเข้าใจ ส่งเสริมให้ครัวเรือนยากจนที่ขาดความพร้อม ทั้งไม่มีเวลา ไม่มีผู้ดูแล ส่งลูกหลานให้ได้รับการดูแลในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน หรือโรงเรียน ให้เร็วที่สุด เพราะ เป็นโอกาสได้รับการส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย รวมถึงได้รับการคุ้มครองดูแลอีกด้วย” นายประเสริฐ กล่าว .314.-สำนักข่าวไทย