กรุงพนมเปญ 7 ก.ย.-นายกรัฐมนตรีไทย- กัมพูชา แถลงร่วมเห็นพ้องปรับปรุงคุณภาพสินค้าเกษตร เชื่อมเส้นทางรถไฟจากไทยไปพนมเปญ ดูแลผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย ให้ดีที่สุด และทำแรงงานกัมพูชาให้ถูกกฏหมาย ทั้งสองประเทศจะก้าวไปข้างหน้า ไม่มีความหวาดระแวงต่อกัน
เมื่อเวลา 11.00 น. ณ อาคารสันติภาพ สำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการระหว่างไทยและกัมพูชา ครั้งที่ 3 Joint Cabinet Retreat (JCR) ทางฝ่ายกัมพูชา ประกอบด้วย สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ทั้งสองประเทศ ได้เป็นสักขีพยาน การลงนามเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ 1 แถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 3 และ 2 ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนไทย – กัมพูชา ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย และส่งเสริมการลงทุนระหว่างกันต่อไป
จากนั้นมีการแถลงร่วมกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าประเทศไทยยินดี ให้ความช่วยเหลือ ปรับปรุงพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร ส่วนการเปิดจุดผ่านแดนนั้น คณะกรรมการเจบีซี จะเร่งรัดให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ทั้งสองประเทศ จะมีความร่วมมือมากขึ้นในด้านการปราบปรามยาเสพติด ที่ไทยยินดีช่วยตั้งศูนย์แก้ปัญหายาเสพติด ร่วมมือกันทั้งด้านการป้องกัน การปราบปรามและการฟื้นฟู สำหรับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะแรงงานด้านประมง จากประเทศกัมพูชานั้น จะต้องคัดแยกให้ถูกต้องตามกฎหมาย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนเรื่องความเชื่อมโยงนั้น ไทยและกัมพูชาจะร่วมมือกันโดยในส่วนของรถไฟ จะก่อสร้างทางเพื่อเชื่อมไปถึงกรุงพนมเปญโดยเร็ว ซึ่งถือเป็นเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ เชื่อมไทยกับประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และมีข้อตกลงจะดูแลผู้ประกอบการทั้ง 2 ฝ่ายให้ดีที่สุด ตามมาตรการที่เหมาะสม ทั้งสองประเทศจะก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาค และอยู่บนพื้นฐานการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่มีความหวาดระแวง บนผลประโยชน์ที่เท่าเทียม
ทางด้านสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา แถลงว่า การหารือเป็นเข็มทิศชี้ทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกัมพูชาและไทย เกือบทุกบริบทที่หยิบยกมาหารือ และเห็นชอบกันนั้น ทางด้านเศรษฐกิจ ทั้ง 2 ประเทศ มุ่งเน้นเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน ทางการไทยตกลงรับซื้อสินค้าเกษตรกรของกัมพูชามากขึ้น ขณะที่การเชื่อมโยงระหว่างกันเป็นประเด็นหลัก และเห็นชอบเปิดด่านถาวร อีก 4 แห่ง ส่วนปัญหายาเสพติดและการค้ามนุษย์ก็เป็นประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายหยิบยกมาหารือกัน โดยจะริเริ่มให้มีหมู่บ้านสีขาว ปลอดยาเสพติด นอกจากนี้อยากให้คนงานกัมพูชา เข้าทำงานในไทยอย่างถูกกฎหมาย ไม่ถูกหลอก
ด้านพล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการประชุมร่วมว่า ไทยกำลังดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ Thailand 4.0 รัฐบาลกัมพูชาก็ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์จตุโกณ ที่มีความ สำคัญสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การขยายเครือข่ายความเชื่อมโยงด้านการคมนาคม การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน การสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดเล็ก SMEs และกลุ่ม Start up
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่เป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศ โดยขณะนี้ไทยส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาสายอาชีวะ ซึ่งจะผลิตแรงงานที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ สำหรับการพัฒนาประเทศนั้น ไทยยึดนโยบาย Thailand +1 และเน้นความร่วมมือที่เป็นหุ้นส่วนและเดินหน้าไปด้วยกัน และต้องร่วมกันแก้ปัญหาที่มีอยู่ โดยไม่สร้างปัญหาในวันข้างหน้า
“นายกรัฐมนตรีหวังว่าการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสอันดีสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการกระชับความร่วมมือและแนวทางสร้างผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนของประเทศทั้งสอง” พล.ท.วีรชน กล่าว
พล.ท.วีรชน กล่าวว่า โอกาสนี้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ที่ผ่านมามีความร่วมมือกันอย่างดียิ่ง ในทุกระดับ ทั้งระดับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และแม่ทัพภาค รวมทั้งกลไกทวิภาคี คณะกรรมการชายแดนทั่วไป หรือ GBC และ RBC
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย – กัมพูชา ซึ่งดูแลด้านความมั่นคงชายแดนในส่วนของประชาชนในท้องถิ่นโดยตรง ทำงานอย่างบูรณาการเสริมสร้างพื้นที่ชายแดนให้มีความสงบสุข สองประเทศมีเสถียรภาพ เพื่อให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นบนพื้นฐานของความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ดังนั้น ขอให้ทั้งสองฝ่ายเร่งจัดทำรายชื่อผู้ประสานงาน สำหรับช่องทางการสื่อสารเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน หรือ hotline ในทุกระดับการบังคับบัญชาเพื่อการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนได้อย่างทันท่วงที
พล.ท.วีรชน กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าด้านการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูง สถิติการลักลอบตัดไม้พะยูงบริเวณชายแดนรวมถึงเหตุการณ์ปะทะอันสืบเนื่องมาจากการลักลอบตัดไม้ดังกล่าวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงขอให้สองฝ่ายจัดการประชุมคณะกรรมการระดับชาติสองฝ่ายในโอกาสแรกเพื่อหารือแนวทางป้องกันปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นการขยายความร่วมมือในรูปแบบใหม่ ขอเสนอให้สองฝ่ายช่วยกันรักษาความสะอาดบริเวณลำคลอง โดยอาจเริ่มต้นจากพื้นที่บริเวณจุดผ่านแดนถาวรสำคัญ อันจะช่วยเสริมสร้างภูมิทัศน์ที่สวยงามสำหรับผู้สัญจรข้ามแดนและช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย.-สำนักข่าวไทย