รัฐสภา 17 ก.ค.-“จุลพันธ์” รมช.คลัง โยนให้พาณิชย์ ปรับ-ลด Negative List สินค้านำเข้า เชื่อยืดยุ่นได้ ไม่ทำให้ดิจิทัลวอลเล็ตสะดุด ยันสัดส่วนร้านค้าขนาดเล็ก มากกว่าร้านสะดวกซื้อ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลุกขึ้นชี้แจงถึงรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต สำหรับสินค้าต้องห้าม และขนาดของร้านค้าที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ ว่า ประเด็นที่ 1 Negative List (บัญชีรายการสินค้าที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ) ที่มีการปรับเพิ่มรายการต้องห้าม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร เป็นกลไกที่รัฐบาลลงทุนไปแล้วต้องเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน เกิดการผลิตภายในประเทศเป็นหลัก สินค้าที่โดนตัดออกเกือบทั้งหมดเป็นสินค้านำเข้า เช่น น้ำมัน โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
ประเด็นที่ 2 ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาแก้ไขสินค้า Negative List แต่ต้องผ่านความยินยอมจากคณะอนุกรรมการกำกับนโยบาย เพราะต้องมีความยืดหยุ่น เพราะมีสินค้าบางประเภทได้รับคำแนะนำมา เช่น อาวุธยุทธโธปกรณ์ ควรซื้อได้หรือไม่ ตามหลักคิดคือไม่ได้ ต้องมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาเพิ่มเติม และนำมาเสนอต่อคณะกรรมการอีกครั้ง นี่คือกลไกที่ทำให้นโยบายเดินหน้าโดยไม่มีความสะดุด ยืดหยุ่นเพียงพอ
ส่วนร้านค้าขนาดใหญ่-เล็ก รัฐบาลพยายามกำหนดเรื่องพื้นที่ระดับอำเภอ กำหนดขนาดร้านค้าที่มีขนาดเล็กลง ให้เกิดการกระจายเม็ดเงินลงไปแก่ร้านค้าและประชาชนให้มากที่สุด และยืนยันสิ่งที่ทำในอดีตโครงการของรัฐมีร้านค้าเข้าร่วม 1,200,000 ร้านค้า แต่ในโครงการนี้สามารถดึงร้านค้ามาอยู่ในระบบได้ไม่ต่ำกว่า 2,000,000-3,000,000 ร้านค้า
ส่วนร้านค้าที่ สส.เป็นห่วง เช่น ร้านค้าส่ง ร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ มีเพียง 50,000 ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ โดยยืนยันว่า สัดส่วนร้านค้าส่วนมากจะเป็นร้านค้าขนาดเล็ก ร้านของประชาชน ร้านค้าของวิสาหกิจ สหกรณ์ แต่กลไกโครงสร้างเศรษฐกิจไทย มีความสุ่มเสี่ยงที่จะไหลไปถึงร้านสะดวกซื้อ รัฐบาลพยายามกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ การจะดัดโครงสร้างทางธุรกิจปัจจุบันด้วยนโยบายนี้ ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่เราต้องอุดหนุนช่วยเหลือสร้างกลไกให้ร้านค้าขนาดเล็กมีความเข้มแข็งต่อไป ถึงแม้เงินบางส่วนอาจจะต้องไปใช้ในร้านค้าที่เป็นห่วง แต่ต้องยอมรับร้านค้าเหล่านั้นไม่ใช่ผู้ผลิต สุดท้ายก็ต้องนำเม็ดเงินส่งต่อไปยังตัวผู้ผลิตสินค้าอยู่ดี
สำหรับตัวคูณทางเศรษฐกิจ กลไกนี้อย่ามองเพียงสองรอบที่กำหนดโครงการไว้ รัฐบาลอยากให้กระตุ้นการผลิต การจ้างงาน จึงได้กำหนด 2 รอบ ในการใช้เงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยกำหนดรอบแรกระหว่างประชาชนกับร้านค้า รอบที่สองร้านค้ากับร้านค้า หากครบรอบ 2 เม็ดเงิน 500,000 ล้านบาท ยังอยู่ในรูปแบบเงินดิจิทัลวอลเล็ต หรือขึ้นเป็นเงินสดปกติ สุดท้ายเงินเหล่านี้จะเป็นกลไกในการเคลื่อนหมุนเศรษฐกิจ
“วันนี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะที่เหมือนบ่อน้ำไม่พอ ปลาอยู่เยอะเกินไป มันก็ตาย อยู่ไม่ได้ เราต้องเติมน้ำเข้าในบ่อให้เพียงพอ เพื่อให้ทุกคนอยู่ในระบบเศรษฐกิจร่วมกันได้ มีเงินที่จะเดินหน้าระบบเศรษฐกิจ” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ เชื่อมั่นว่า กลไกนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่มีความเหมาะสม สำหรับประโยชน์อื่นๆ ในเรื่องของข้อมูล ที่ได้การเชื่อมโยงฐานข้อมูลทั้งหมดเข้าสู่แอปกลางของรัฐ จะเป็นประโยชน์สูงสุดในการบริหารจัดการภาครัฐ ในการกำหนดนโยบาย เปลี่ยนเป็นข้อมูลวิเคราะห์จัดสรรงบประมาณที่มี ช่วยแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างตรงจุด สามารถเลือกกลุ่มเป้าหมาย และติดตามผลได้อย่างเหมาะสม.-315.-สำนักข่าวไทย