ทำเนียบ 17 ก.ค.- “นลินี ทวีสิน” นำคณะภาคเอกชนไทยเข้าชมท่าเรือจิตตะกอง ผลักดันการเดินเรือท่าเรือระนอง-จิตตะกอง ย้ำประเด็นการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์เป็นปัจจัยสำคัญสู่การเพิ่มมูลค่าการค้าไทย-บังกลาเทศ
นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย นำคณะภาคเอกชนไทยเข้าเยี่ยมชมท่าเรือจิตตะกอง ผลักดันการเปิดเส้นทางเดินเรือระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือจิตตะกอง หากสำเร็จจะสามารถลดระยะเวลาขนส่งเหลือเพียง 4-5 วัน และลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้อีกมาก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ คณะยังได้เข้าชม Korean Export Processing Zone (KEPZ) ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเดียวของบังกลาเทศ ที่มีเอกชนเป็นเจ้าของ
นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยถึงภารกิจในวันที่สามของการนำคณะนักธุรกิจไทยเยือนบังกลาเทศ ระหว่างวันที่ 13-17 กรกฎาคม 2567 ว่า คณะได้เดินทางจากกรุงธากา มายังภูมิภาคจิตตะกอง (Chittagong Division) ซึ่งเป็นภาคที่ใหญ่ที่สุดจากทั้งหมด 8 ภาคของบังกลาเทศ ตั้งอยู่ทางตะวันออกติดชายแดนเมียนมา โดยมีเมืองจิตตะกอง (Chittagong City) เป็นเมืองเอกและศูนย์กลางการบริหารของภาค อยู่ห่างจากกรุงธาการาว 250 กิโลเมตร โดยได้เข้าเยี่ยมชมท่าเรือจิตตะกอง ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศ นำเข้าสินค้าถึงกว่าร้อยละ 90 ของสินค้านำเข้าทั้งหมด โดยคณะได้รับฟังการบรรยายสรุปจากประธานการท่าเรือจิตตะกองเกี่ยวกับแผนการพัฒนาท่าเรือในอนาคต และหารือถึงแนวทางการผลักดันการเชื่อมโยงกับท่าเรือไทยในฝั่งอันดามัน เช่น ระนอง ซึ่งหากสามารถผลักดันให้มีการเดินเรือชายฝั่งเพื่อขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือระนองและท่าเรือจิตตะกอง จะทำให้ระยะเวลาขนส่งเหลือเพียง 4-5 วัน และลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้อีกมาก
ผู้แทนการค้าไทย เผยว่า ตนและคณะยังได้รับทราบถึงแผนการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก Matarbari ซึ่งสามารถรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ได้ จะช่วยให้การขนส่งสินค้าระหว่างบังกลาเทศกับต่างประเทศทำได้สะดวกขึ้น เพราะแต่เดิมต้องขนถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่ลงเรือเล็กที่สิงคโปร์หรือศรีลังกาเพื่อขนส่งต่อไปยังท่าเรือจิตตะกอง โดยท่าเรือน้ำลึก Matarbari อยู่ใน เขต Cox’s Bazar และได้รับการสนับสนุนจาก JICA นอกจากนี้ ตนและคณะได้เข้าเยี่ยมชม KEPZ ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ลงทุนโดยบริษัท Youngone ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นบริษัทแรกและเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปในบังคลาเทศ เพื่อศึกษารูปแบบการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโดยบริษัทเอกชนต่างชาติ ปัจจุบัน KEPZ มี 43 โรงงาน มีการจ้างงานกว่า 22,000 คน และอยู่ระหว่างการขยายโรงงานเพิ่มเติมอีก 8 โรงงาน โดยอีกจุดเด่นของ KEPZ คือการให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม อาทิ การติดตั้งแผงโซลาเซลล์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ การมีระบบอ่างเก็บน้ำ และโครงการปลูกป่า
ผู้แทนการค้าไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเด็นด้านความเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะความสะดวกในการขนส่งสินค้าทั้งในแง่ของระยะเวลาและต้นทุนที่ลดลง ผ่านการเปิดเส้นทางเดินเรือระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือจิตตะกอง และโครงการถนนสามฝ่าย อินเดีย-เมียนมา-ไทย จะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน .314.-สำนักข่าวไทย