กกต. 12 ก.ค.-ผ่านมาครึ่งวัน ว่าที่ สว.ทยอยรับหนังสือรับรองเกือบครบแล้ว ขาดเพียง 7 คน ครบ 200 ตามที่ กกต.รับรอง ตัวแทน สว. สะท้อนความต้องการ “ประธานวุฒิฯ” ต้องเป็นคนที่สามารถเปลี่ยนภาพจน์ สว.ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน
ว่าที่ สว.ทยอยเดินทางมารับเอกสารรับรอง ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้ โดยมารอตั้งแต่ก่อนเวลา 08.30 น. เบื้องต้นในช่วงเช้าวันนี้มีผู้มารับหนังสือรับรองแล้วกว่า 20 คน ในจำนวนนี้ คือ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ สว. กลุ่ม 1 บริหารราชการแผ่นดิน ที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนที่มารอทำข่าว เนื่องจากมีกระแสข่าวถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา และล่าสุดเมื่อเวลา 11.00 น. เหลืออีกเพียง 7 คนเท่านั้น ก็จะครบ 200 คน ตามที่ กกต. ได้ประกาศรับรอง ซึ่ง กกต.จะเปิดให้มารับหนังสือรับรองวันนี้วันสุดท้ายจนถึงเวลา 16.30 น.
โดยว่าที่ สว. ที่ยังไม่มารับหนังสือรับรอง จำนวน 7 คน คือ กลุ่ม 5 นายเดชา นุตาลัย กลุ่ม 6 นางสาวมาเรีย เผ่าประทาน กลุ่ม 7 นายชินโชติ แสงสังข์ และนายแล ดิลกวิทยารัตน์ กลุ่ม 9 นางมณีรัตน์ เขมะวงค์ กลุ่ม 11 นายณภพ ลายวิเศษกุล และกลุ่ม 17 นายศุภโชค ศาลากิจ
นายชูชีพ เอื้อการณ์ กลุ่ม 20 ให้สัมภาษณ์หลังรับหนังสือรับรอง ว่าที่ผ่านมามีเรื่องกระแสการยอมรับ สว. เพราะฉะนั้นคนที่จะมาทำหน้าที่เป็นประธาน สว. นอกจากจะมีศักยภาพ มีความรู้ ความสามารถแล้ว ยังต้องมีอิสระในการทำหน้าที่เพื่อผลักดันกฏหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ส่วนรายชื่อแคนดิเดตประธานวุฒิสภา ที่มีการพูดกันในขณะนี้ ตนคิดว่ามีประเด็นในการมองหลากหลายมุม ที่สำคัญทุกคนที่มายืนอยู่ในจุดนี้ เมื่อได้รับการรับรองแล้ว ถึงเวลาที่จะต้องแสดงจุดยืนทางการเมืองที่เป็นกลางและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพื่อจะได้ขับเคลื่อนและเดินหน้า สร้างการยอมรับในฐานะวุฒิสมาชิกของประเทศต่อไป ส่วนคุณลักษณะพิเศษของประธานวุฒิสภา จะต้องเป็นที่ยอมรับซึ่งการจะเป็นที่ยอมรับในหมู่ สว.และประชาชน ก็จะต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองและจุดยืนทางการเมืองที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด จึงจะนำพาวุฒิสมาชิกไปสู่การยอมรับของประเทศชาติและประชาชนได้ในที่สุด
ส่วนนางกัลยา ใหญ่ประสาน กลุ่ม 5 กล่าวว่า อยากให้ผู้ที่จะมาทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาแสดงวิสัยทัศน์ ว่ามีคุณสมบัติในการทำหน้าที่ให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างไรบ้าง และสร้างการรับรู้เปลี่ยนภาพพจน์ สว.ในสายตาประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาเรารับรู้ว่า สว.ที่ได้มาจากการแต่งตั้ง โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนเลือกจะเป็นปัญหามาก เพราะสิ่งที่ทำไป ไม่ได้ยึดโยงความต้องการและประโยชน์ของประชาชน แต่ไปยึดโยงคนที่ตั้งมา ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้เลือก สว. แม้ว่าพวกเราที่เข้ามาจะเป็นเสียงน้อยนิด แต่ประชาชนน่าจะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงจาก สว.ชุดใหม่ และเป็นความหวังให้ประเทศชาติได้
“เราเข้ามาแล้วกินเงินเดือนจากภาษีประชาชน มีอภิสิทธิ์ต่างๆ มากมายต้องสำนึก ว่าเข้ามาในตำแหน่งที่ทรงเกียรติ เพื่อที่จะทำให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความหวังสำหรับลูกหลานในวันหน้า โดย สว.น่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมตรวจสอบรัฐบาล สร้างกฎหมายและกลไก เอื้อให้คนที่มีชะตากรรมเลวร้าย ถูกเอารัดเอาเปรียบได้มีความหวัง หรือมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของเขาด้วย เพราะเราไม่อยากปล่อยให้ชะตากรรมสังคมที่เลวร้ายเกิดขึ้นอยู่ทุกวันต่อไป” นางกัลยา กล่าว
ส่วนนายประหยัด จตุพรพิทักษ์กุล กลุ่ม 17 ภาคประชาสังคม กล่าวว่า อยากเห็นประธานวุฒิสภาที่มีจุดยืนนำพาประเทศไทยไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบรูณ์ ทั้งในระบบตัวแทนและประชาธิปไตยทางตรง นอกจากนี้จะต้องมีจุดยืนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พร้อมทั้งมีวิสัยทัศน์สนับสนุนกฎหมายที่มาจากภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ส่วนเนื้อหารัฐธรรมนูญที่ต้องการให้แก้ไขประเด็นใดนั้น คิดว่าประเด็นใหญ่ที่ต้องการให้โฟกัสแก้ไข คือ เรื่องการกระจายอำนาจ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจที่ยังคงมีความเลื่อมล้ำ ซึ่งในมุมมองของตนอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยมีสภาพลเมือง.-314.-สำนักข่าวไทย