ทำเนียบ 19 มิ.ย.-“ณัฐพล” สส.ก้าวไกล ชี้นโยบาย Soft Power กำลังหลงทาง เชื่อยังไม่สายเกินแก้ไข เสนอปลดล็อกความสร้างสรรค์ ด้วยโมเดล CEA
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่สอง สมัยวิสามัญเป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ยังไม่เห็นปลายทางด้วย 4 เหตุผล ดังนี้
1.รัฐบาลไม่ได้เตรียมการบ้านมาก่อน (คิดไป ทำไป) ตัวอย่างคือ งานมหาสงกรานต์ Water Festival สาดน้ำตลอดเดือน งบกลางถูกใช้ช่วยแค่การโฆษณา ไม่ได้ยกระดับงานขึ้น และโครงการแอปฯ OOFOS ที่เดิมอยู่ในกองทุนหมู่บ้าน แต่ตอนนี้อยู่ที่สำนักพัฒนารัฐบาลดิจิตอล และใช้งบประมาณต่ำกว่าที่อนุมัติไว้ สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อเงินไม่มี งานไม่ออก ก็ต้องควักงบกลางมาใช้ และพยายามหาช่องให้งานออก จึงไม่ตัองแปลกใจ 10 เดือนที่ผ่านมา จึงแทบไม่เห็นอะไรจากซอฟต์พาวเวอร์
2.เน้นจัดงานเป็นหลัก เพราะวัดผลง่าย มีภาพชัดเจน ขณะที่นายกรัฐมนตรีพยายามดึงงานระดับโลกเข้ามาจัดในไทย แต่ยังไม่มีใครคอนเฟิร์มอย่างล่าสุดโดนปฏิเสธการจัดงาน World Pride 2028 แต่รัฐบาลยังพยายามจะเสนอเป็นเจ้าภาพอีกครั้งในปี 2030 เรื่อง Event และ Festival เข้าใจว่า เป็นทั้งนโยบายการท่องเที่ยว และ soft power แต่อยากให้พิจารณาว่า การจัดงานแบบใดที่จะตอบโจทย์การท่องเที่ยวในระยะยาว และช่วยสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้กับประเทศไทยมากกว่ากัน
3.การจัดสรรงบประมาณ ลงไปในแต่ละรายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่กำลังทำ เป็นการจัดสรรแบบผิดฝาผิดตัว ตัวอย่าง เช่น ซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร อย่างอาหารเกาหลี เขาใส่ Content และสื่อสารผ่านสื่อบันเทิง แต่สิ่งที่รัฐบาลทำกับอาหารไทยคือ ‘หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟ‘ ทั้งที่ชาวต่างชาติเข้าถึงอาหารไทยได้ง่ายอยู่แล้ว ถ้าเป็นตนเองคงนำเงินส่วนนี้ ไปสื่อสารเล่าเรื่องอาหารไทยใหม่ เพื่อสร้าง Demand ให้กับอาหารไทย แทนที่จะเพิ่มเชฟทุกหมู่บ้าน ขณะที่ซอฟต์พาวเวอร์มวยไทยก็ไปผิดทางเช่นกัน
4.การไม่เข้าใจกันระหว่างรัฐบาล และหน่วยงานราชการ ซอฟต์พาวเวอร์ เป็นนโยบายที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เคยทำมาแล้วครั้งหนึ่ง เพื่อการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่รัฐบาลปัจจุบันตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมา โดยมีหน่วยงานที่ไม่เคยทำเรื่องนี้เลย และบางหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้กลับไม่ถูกเรียกเข้ามา ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความลักลั่นขึ้น2 เรื่อง คือ 1. ไม่มีเจ้าภาพทางกฎหมายที่จะดูแลเรื่องนี้ 2. ความลักลั่นด้านงบประมาณ บางโครงการที่ตั้งขึ้นก็ไม่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ ขณะที่บางโครงการซึ่งสอดคล้องซอฟต์พาวเวอร์ แต่ไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์
นายณัฐพล กล่าวว่า ตนเอง และพรรคก้าวไกลไม่ได้ขัดขวาง แต่อยากให้อุตสาหกรรมถูกยกระดับ จึงมีข้อเสนอขั้นพื้นฐานที่จะช่วยปลดล็อกความสร้างสรรค์ ด้วยโมเดล CEA คือ Core value ปรับทัศนคติตัวเอง Ecosystem โดยอัปสกิล รีสกิล เป็นนโยบายที่ดี แต่ติดที่อยากให้ประชาชนมีอิสระในการเรียนรู้ และ Agency คือต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพ ซึ่งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Agency หรือ CEA) ควรถูกยกเป็นแม่งาน พร้อมกับเสนอแผนบูรณาการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย
“ซอฟต์พาวเวอร์จะไม่เกิด ถ้าเรายังหาความรู้สึกอันน่าหลงใหลที่เราคนไทย และคนต่างชาติ ต่างยอมรับมันยังไม่เจอ ซอฟต์พาวเวอร์จะไม่เกิดเช่นกัน ถ้ารัฐบาล หน่วยงาน หรือแม้แต่ผู้ประกอบการ ยังควรมองว่ามันเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งเพื่อหารายได้จากการท่องเที่ยว และซอฟต์พาวเวอร์ก็จะไม่เกิด ถ้าคนที่กำลังทำมันอยู่มอง Value Chain มอง Stage ของแต่ละอุตสาหกรรมไม่ออก ท่านก็จะจัดสรรงบประมาณไม่ถูก เรื่องนี้มันยังไม่สายเกินไป” นายณัฐพล กล่าว.-317.-สำนักข่าวไทย