กทม. 20 พ.ค.-“อนุทิน” กำชับ จัดแผนป้องกัน แนวทางเข้าระงับอัคคีภัยที่มีประสิทธิภาพ หลัง บกปภ.ช. พบสถิติเกิดเพลิงไหม้พุ่ง โรงงานใช้สารเคมีอันตรายประสบเหตุมากขึ้น
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ความสนใจติดตามสถานการณ์การเกิดอัคคีภัย รวมถึงกรณีปัญหาสารเคมีรั่วไหลในโรงงาน ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เนื่องจากข้อมูลของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ระบุถึงข้อมูลการเกิดอัคคีภัย ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 2 พ.ค. 67 กับช่วงเดียวกันของปี 66 พบว่า ปีนี้มีสถิติการเกิดเหตุสูงขึ้น ทั้งในพื้นที่หมู่บ้าน ชุมชน ขณะที่สถานประกอบการที่มีการใช้สารเคมีและวัตถุอันตรายในกระบวนการผลิต รวมถึงโกดัง ที่เป็นแหล่งเก็บสารเคมีและวัตถุอันตรายในหลายพื้นที่ก็เกิดเหตุอัคคีภัยอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากอัคคีภัย และอุบัติภัยที่เกิดจากอัคคีภัยที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ นายอนุทิน ได้มีข้อสั่งการในฐานะผู้บัญชาการ บกปภ.ช. ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ให้กำชับผู้อำนวยการในแต่ละระดับ และเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ให้สำรวจ ตรวจสอบ พื้นที่ชุมชน สถานประกอบการ อาคาร โกดัง หรือสถานที่ใด รวมถึงวัสดุสิ่งของภายในและโดยรอบที่มีสภาพเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยได้โดยง่าย หากพบสภาพมีความไม่ปลอดภัย ให้แจ้งเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือเจ้าของสถานที่ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุง แก้ไขให้มีความปลอดภัยโดยเร็ว และขอให้ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงช่องทางการแจ้งเหตุ และขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ ระเบียบ กฎหมาย มาตรการในการป้องกันและระงับอัคคีภัย ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัยเมื่อเกิดอัคคีภัย
ในข้อสั่งการของผู้บัญชาการ บกปภ.ช. ระบุว่า เมื่อเกิดอัคคีภัย ให้เร่งดำเนินการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุจังหวัด และให้เป็นไปตามระบบบัญชาการเหตุการณ์ รวมถึงแผนที่เกี่ยวข้องกรณีมีประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบที่เกิดเหตุการณ์ได้รับผลกระทบ จำเป็นต้องอพยพไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ให้ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการดำรงชีพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน กรณีมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ให้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขในเรื่องเวชภัณฑ์ทางการแพทย์และโรงพยาบาลสำหรับรองรับผู้บาดเจ็บ รวมถึงการดูแลสภาพจิตใจของผู้ประสบภัยโดยเร็ว
นอกจากนี้ นายอนุทิน ได้เน้นย้ำว่า กรณีการเกิดอัคคีภัยขนาดใหญ่ ที่อาจต้องใช้เครื่องมือ อุปกรณ์พิเศษ เช่น เพลิงไหม้ชุมชนเป็นบริเวณกว้าง เพลิงไหม้อาคารสูง เพลิงไหม้โรงงานอุตสาหกรรม หรือแหล่งเก็บสารเคมีและวัตถุอันตรายรวมถึงกรณีที่เหตุอัคคีภัย เป็นเหตุที่มีความเฉพาะด้าน จำเป็นต้องอาศัยหน่วยงานทางเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการ ให้ประสานการปฏิบัติกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางโดยเร่งด่วน เพื่อจะได้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสนับสนุนจังหวัดในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหา อัคคีภัยที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ พี่น้องประชาชนสามารถแจ้งเหตุสาธารณภัยผ่านสายด่วนนิรภัย 1784 ไดัตลอด 24 ชั่วโมง หรือผ่าน Line Official Account “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784“.- 317.-สำนักข่าวไทย