กทม. 19 พ.ค.-“อนุทิน” มอบผู้ว่าฯ ทั่วประเทศจัดแผนป้องกันและเผชิญเหตุอุทกภัย ลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงปลายเดือน พ.ค.67 ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝน อุณหภูมิจะเริ่มลดลง ฝนตกชุก และอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
เพื่อเป็นการป้องกันและลดผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน พื้นที่การเกษตรของประชาชน ตลอดจนทรัพย์สินของทางราชการ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการ บกปภ.ช. ได้มอบหมายไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ให้เตรียมการป้องกัน และมีแผนเผชิญเหตุเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย ตลอดช่วงฤดูฝน ปี 2567 ที่กำลังจะมาถึง ให้พร้อมและสามารถลดความเสียหายที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
“ท่านอนุทิน ห่วงใยพี่น้องประชาชนจากผลกระทบของภัยพิบัติ ที่ในช่วงฤดูฝนทุกปีได้สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินในวงกว้าง โดยเฉพาะในปีนี้ที่ทั่วโลก รวมถึงไทยเผชิญกับภาวะอากาศสุดขั้ว ร้อนจัด และสถาบันต่างๆ ก็คาดว่าจะมีปรากฎการณ์ลานีญาในช่วงฤดูฝน นั่นคืออาจมีปริมาณฝนที่มากกว่าปกติ รวมถึงพายุที่รุนแรง ในฐานะผู้บัญชาการ บกปภ.ช. ท่านจึงมอบหมายและกำชับว่า ทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานครให้เตรียมแผนงานให้พร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในส่วนการเตรียมความพร้อม รมว.มหาดไทย ให้ทุกจังหวัด/กรุงเทพมหานคร จัดตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามสภาพอากาศ ที่ประกอบด้วยผู้แทนทั้งจากหน่วยงานด้านการพยากรณ์ การบริหารจัดการน้ำ และฝ่ายปกครอง ทบทวนแผนเผชิญเหตุในแต่ละจังหวัด โดยให้ความสำคัญกับข้อมูลล่าสุด ทั้งส่วนของพื้นที่เสี่ยง เครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ ข้อมูลประชาชนกลุ่มเปราะบาง การกำหนดจุด/พื้นที่ปลอดภัย แผนการอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย
ดำเนินการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงสถานที่ใช้กักเก็บน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำ ฝาย พนังกั้นน้ำ รวมทั้งให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับ เชื่อมโยงในเรื่องของการระบายน้ำอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะพื้นที่รอยต่อความรับผิดชอบในพื้นที่ซึ่งเป็นเส้นทางน้ำไหลผ่าน วางแผนการติดตั้งเครื่องจักรกลสาธารณภัยล่วงหน้าในพื้นที่เสี่ยง เช่น เขตชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สถานที่สำคัญ เส้นทางคมนาคม รวมทั้งวางระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติให้สามารถไปถึงประชาชนในทุกช่องทางอย่างมีประสิทธิภาพ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ส่วนของแผนเผชิญเหตุ หากเกิดเหตุหรือคาดว่าจะเกิดสถานการณ์อุทุกภัย วาตภัย หรือดินถล่ม ให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์บัญชาการระดับจังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อเป็นศูนย์บัญชาการ ระดมกำลังจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร อปท. องค์กรการกุศล เพื่อให้ความช่วยเหลือ บริหารสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งส่วนการเฝ้าระวัง การเปิดทางน้ำ เร่งระบายน้ำ การให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านการดำรงชีพ ที่อยู่อาศัย การสัญจร ในช่วงการเกิดเหตุ โดยไม่เกิดปัญหาความทับซ้อนของหน่วยงาน
ทั้งนี้ บกปภ.ช.ได้รายงานข้อมูลผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในช่วงปี 2564-66 ที่ผ่านมา ว่า
1) ปี 2564 เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 69 จังหวัด รวม 548 อำเภอ/เขต 3,026 ตำบล/อปท./แขวง 21,990 หมู่บ้าน/ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 321,870 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 11 ราย และบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเสียหาย 19,132 หลัง
2) ปี 2565 เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 74 จังหวัด รวม 715 อำเภอ/เขต 4,201 ตำบล/อปท./แขวง 32,005 หมู่บ้าน/ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 769,889 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 21 ราย และบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเสียหาย 37,255 หลัง
3) ปี 2566 เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 67 จังหวัด รวม 547 อำเภอ/เขต 2,752 ตำบล/อปท./แขวง 17,454 หมู่บ้าน/ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 42,058 ครัวเรือน และบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเสียหาย 34,731 หลัง.-317.-สำนักข่าวไทย