ทำเนียบรัฐบาล 8 พ.ค.-“พีระพันธุ์” ยันข่าวกฤษฎีกาท้วง ครม. เรื่องมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน บิดเบือนกลไกลตลาดไม่จริง วอนสมาคมขนส่งเข้าใจ ตรึงดีเซลลิตรละ 33 บาทเพราะมีเงินน้อย ย้ำเตรียมแก้กฎหมายพลังงาน ดึงการกำหนดเพดานภาษีน้ำมันมาดูเอง
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกรณีมีรายงานจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ระบุว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็น 3 มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ทั้งการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ตรึงราคาขายปลีก LPG และการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนหน้านี้มีความเสี่ยงกระทบกับกลไกตลาดและคนใช้ฟุ่มเฟือย โดยยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง สื่อเอาข่าวมาจากไหน
“ผมนั่งอยู่ในที่ประชุมครม. ไม่มีเตือนใด ๆ ว่าหากอุดหนุนมาตรการต่อเนื่องจะเป็นการบิดเบือน และเห็นว่าการช่วยเหลือประชาชนในด้านนี้ไม่ดีตรงไหน ส่วนข้อกังวลจากกฤษฎีกา ผมไม่เห็น การจะของบกลางมาช่วยมาตรการดังกล่าวไม่มีปัญหา ขณะเดียวกันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ติดลบอยู่ขณะนี้ การดูแลเรื่องราคาน้ำมันตามระเบียบเดิมเมื่อปี 2516 ได้ตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นมาและไม่มีกฎหมายรองรับ สถานะกองทุนน้ำมันถูกรองรับให้ถูกต้องตามกฎหมายเมื่อปี 2562 โดยก่อนปี 2562 ใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 มาตลอด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า คำสั่งนี้ให้อำนาจกองทุนฯ ดูแลตรึงราคาหรือรักษาระดับราคาน้ำมัน คือ ทำได้2 ขา โดย ขาหนึ่งคือใช้เงินในกองทุนฯส่วนอีกขาหนึ่งให้อำนาจในการกำหนดกำหนดเพดานภาษี ซึ่งกองทุนน้ำมันฯมีอำนาจกำหนดเพดานภาษี แต่ไม่มีอำนาจเก็บภาษี ดังนั้น สามารถใช้ 2ขานี้ตรึงราคาหรือช่วยดูแลประชาชนได้ นอกจากใช้เงินอย่างเดียว โดยใช้เพดานภาษีมาเป็นตัวควบคุมได้ด้วย เมื่อกระทรวงพลังงานกำหนดเพดานภาษี คนเก็บคือกระทรวงการคลัง แต่เมื่อการออกกฎหมายเมื่อปี 2562 ไปตัดอำนาจกำหนดเพดานภาษีของกองทุนฯออกเหลือแต่การเงินอย่างเดียว
“ตัวเลขของกองทุนฯ ที่เป็นหนี้จำนวนมากหรือติดลบตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา เนื่องจากการกำหนดเพดานภาษีซึ่งเคยเป็นอำนาจของกองทุนไม่มีแล้ว ครั้งนี้พยายามขอให้ทางกระทรวงการคลังพิจารณาปรับลดเพดานภาษีสรรพสามิต แต่ไม่เห็นด้วย ทั้งนี้เดิมเป็นอำนาจของกองทุนฯ ที่สามารถกำหนดเพดานได้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขต่อไป โดยต้องเอาอำนาจในการเก็บเพดานภาษีมาอยู่ที่กระทรวงพลังงาน เมื่อเป็นสินค้าของกระทรวงพลังงาน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว
ส่วนกรณีที่สมาคมขนส่งสินค้ากังวลว่าการปรับเพดานราคาน้ำมันดีเซล อยู่ที่ลิตรละ 33 บาท จะเป็นการแบกรับภาระค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นนั้น นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพยายามจะช่วยเหลือภาคขนส่งมาโดยตลอด เพราะได้รับการร้องเรียนมาด้วยเช่นกัน แต่เวลาลดราคาน้ำมัน ภาคขนส่งไม่ลดราคาให้ประชาชนบ้าง ซึ่งการตรึงราคาน้ำมันดีเซลรัฐบาลมีความพยายามตรึงในราคาที่เท่าที่ทำได้ ก่อนหน้านี้ดำเนินการอยู่ที่ราคาลิตรละ 30 บาท ตอนนี้ยังตรึงในราคานี้ไม่ได้ เพราะที่ผ่านมากว่า 50 ปี ใช้วิธีการตรึงราคาด้วยเงิน จึงอยู่ที่เงินในกระเป๋า
“เงินมากก็ตรึงได้มาก เงินน้อยก็ตรึงได้น้อย ขณะนี้เงินน้อยก็ต้องตรึงราคาได้น้อย แต่หากเก็บเงินเพิ่มได้ใหม่ ก็สามารถตรึงราคาได้อีก แต่ว่าระบบนี้และวิธีการเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ตนเองพูดมาเสมอว่าไม่เห็นด้วยเพราะการใช้เงินไปตรึงไม่ใช่วิธีที่ถูก จำเป็นต้องปรับระบบใหม่ ซึ่งกำลังดำเนินการทำอยู่ โดยจะต้องเขียนกฎหมายใหม่ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ และจะใช้เวลาไม่นาน เพราะตนเองได้เขียนเสร็จไปในระดับหนึ่งแล้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว.-314.-สำนักข่าวไทย