1 พ.ค. – “พิมพ์ภัทรา” เผยยังไม่เห็นหนังสือลาออก หลังลือ “จุลพงษ์” อธิบดีกรมโรงงานฯ ไขก๊อกหนี เซ่นปมแคดเมียม-ไฟไหม้โรงงานสารเคมีระยอง ยันไม่กดดันให้ลาออก แต่กดดันแก้ปัญหา ลั่นทุกเรื่องต้องมีคำตอบ ทำงานแบบมืออาชีพ ชี้เร่งระดมมือดี ก.อุตฯ ลุยคลี่คลายโดยด่วน ย้ำนายกฯ กำชับเร่งดูแลประชาชน
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เวลา 19.30 น. ทันทีที่นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ประกาศลาออกจากราชการ กลางวงประชุมคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นประธาน ซึ่งในการประชุมได้เร่งรัดติดตามการแก้ 2 เรื่องสำคัญที่อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ทั้ง กรณีเพลิงไหม้สารเคมีของกลาง ของ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด จ.ระยอง โดยกรณีนี้นายจุลพงษ์ ถูกนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่อว่าเรื่องการลงพื้นที่แก้ปัญหาให้กับประชาชนล่าช้า เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา และกรณีการลักลอบขนย้ายกากแร่ตะกอนแคดเมียมจาก จ.ตาก ไปยัง จ.สมุทรสาคร จนถูกกระจายไปยัง จ.ชลบุรี และเขตบางซื่อ กทม. ซึ่งการขนย้ายยังพบปัญหาหลายจุด ทำให้นายจุลพงษ์ ถูกตำหนิเพราะแก้ปัญหาล่าช้าไม่ทันสถานการณ์ จนกระทั่งตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในวันนี้
ล่าสุด นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ยังไม่เห็นหนังสือลาออกของนายจุลพงษ์อย่างเป็นทางการ ส่วนการลาออกของนายจุลพงษ์ เป็นเพราะนางสาวพิมพ์ภัทราไม่พอใจต่อการทำงาน กดดันและต้องการย้ายนายจุลพงษ์ โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้านั้น นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ตนไม่เคยกดดันให้นายจุลพงษ์ ลาออก แต่กดดันให้ทุกคนทำงานแก้ไขปัญหาให้ประชาชน เพราะปัญหามีมาทุกวัน วน ๆ ซ้ำ ๆ แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้สักที ที่ผานมาเวลาเกิดเหตุการณ์ใดๆ ตนก็จะให้กำลังใจคนทำงานและสอบถามความคืบหน้าไปยังไลน์กลุ่มผู้บริหารโดยตลอด อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ตนก็ยังไม่ได้รับรายงานการลาออกของนายจุลพงษ์ จากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมต้องเดินหน้าในการเร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง รวดเร็ว เพราะปัญหารอไม่ได้ เพราะส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ย้ำแล้วว่าทุกคนต้องทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพ ตามอำนาจหน้าที่ กระทรวงอุตสาหกรรม ทำงานหละหลวมไม่ได้ ทุกความไม่ปกติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ ต้องได้รับการตรวจสอบ ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะด้วยเจตนา หรือไม่เจตนา จะต้องมีคำตอบ เพราะนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนมากที่สุด ซึ่งเป็นหน้าที่รัฐบาลโดยตรงที่จะต้องดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นอีก” นางสาวพิมพ์ภัทรา ระบุ . – 314 สำนักข่าวไทย