กลาโหม 30 เม.ย. – ทอท.กลับลำพร้อมปิดฉาก “สนามงู” หลังลังเล รับพื้นที่ ล่าสุด ฟันธงข้อดี เลิกสนามกอล์ฟดีกว่า ขานรับนโยบายนายกฯ ให้เพิ่มศักยภาพสนามบิน ด้านทัพฟ้า ชี้หากคืนค่าชดเชยอาจสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาพิจารณาการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพฯ เปิดเผยว่าวันนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญผู้แทนจากกองทัพอากาศ สำนักงานการบินพลเรือน และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย หรือ AOT เข้าชี้แจงว่า มีความพร้อมในการ รับพื้นที่สนามงูหรือสนามกอล์ฟกานตรัตน์ที่อยู่กลางสนามบินดอนเมือง กรณีต้องยกเลิกหรือไม่ หลังจากมีข่าวว่าการท่าอากาศยานระบุว่าหากรับไปก็จะไม่คุ้มค่าต่อการพัฒนาสนามบินสนามบิน
โดยนายกีรติ กิจมานะวัฒน์กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยจำกัด(มหาชน) ชี้แจงว่าการรับคืนจากกองทัพอากาศ สามารถทำได้โดยเน้นเรื่องความปลอดภัย ซึ่งแม้ที่ผ่านมา สถาบันการบินพลเรือน และ องค์กรการบินระหว่างประเทศ หรือICAO จะรับรองความเสี่ยงที่ยอมรับได้ก็ตาม แต่จากรายงานสถิติของท่าอากาศยานดอนเมือง ก็พบว่ามีปัญหาเกิดขึ้น เช่น มีรถกอล์ฟฝ่าฝืนสัญญาณไฟ นักกอล์ฟไม่ระมัดระวังในการเดินตัดจุดผ่านของรันเวย์สนามบิน มียานพาหนะฝ่าฝืนสัญญาณไฟแจ้งเตือน นักกอล์ฟไม่ทราบวิธีการปฏิบัติในการขับรถกอล์ฟข้ามทางขับและหอบังคับการบินมองไม่เห็นทางขับช่วงดังกล่าว เนื่องจากมีต้นไม้ของสนามกอล์ฟบดบัง แม้จะอยู่ในมาตรฐานความเสี่ยงที่ยอมรับได้ แต่หากไม่มีสนามกอล์ฟก็จะมีความปลอดภัยสูงมากกว่า
ตอบคำถามที่ว่าหากรับคืนจากกองทัพอากาศแล้วการท่าอากาศยานจะนำไปใช้ประโยชน์อะไร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ชี้แจงว่า จะนำมาพัฒนาเป็นทางเชื่อมต่อของเครื่องบินเข้าสู่รันเวย์ที่1 และ รันเวย์ที่2 ซึ่งก็จะทำให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นและนำไปสู่ แผนการพัฒนาเพิ่มศักยภาพการบินในการเพิ่มเที่ยวบินหรือจำนวนผู้โดยสาร ในอนาคตอันใกล้นี้ได้
ด้านผู้แทนจาก กองทัพอากาศ พลอากาศตรี ธนชัยอากาศวรรธนะ เจ้ากรมสวัสดิการทหารอากาศพร้อมคณะได้ชี้แจงว่าตั้งแต่ปี 2563 สนามกอล์ฟแห่งนี้ได้ถูกตรวจสอบมาโดยตลอดในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งยังยืนยันว่ามีความปลอดภัยทั้งในด้านมาตรฐานการบินและการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่สนามบิน แต่หากรัฐบาลพิจารณาเห็นเป็นอย่างไรเป็นเรื่องในระดับนโยบาย
ส่วนการชดเชยทางกองทัพอากาศได้ประเมินว่ามีค่าใช้จ่ายประมาณ 90 – 100 ล้านบาทต่อปี หากคำนวณอยู่ที่ 30 ปีการท่าอากาศยานอาจต้องจ่ายชดเชยเป็นเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแนวทางของรัฐบาลจะพิจารณาต่อไป
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่าคณะกรรมาธิการได้ข้อยุติแต่จะขอความเห็นเพิ่มเติมไปยังวิทยุการบินในเรื่องดังกล่าวเพื่อประกอบรายงานสรุปนำเสนอต่อรัฐสภาและรัฐบาลต่อไป -313 .-สำนักข่าวไทย