ยื่นผู้ตรวจการฯ ส่งศาล รธน. ชี้ขาด MOU 2544 ไทย-กัมพูชา เป็นโมฆะ

ผู้ตรวจการแผ่นดิน 10 เม.ย.-“ไพบูลย์” ขอใช้สิทธิยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาล รธน.ชี้ขาด MOU 2544 ไทย-กัมพูชา เป็นโมฆะ เหตุไม่ได้ความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย ไม่มีผลผูกพันไทย

นายไพบูลย์  นิติตะวัน  นักกฎหมาย ยื่นหนังสือขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา   ว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชา  อ้างสิทธิในหลายทวีปทับซ้อนกัน  หรือ MOU 2544 ในฐานะบุคคลหนึ่งของปวงชนชาวไทย ที่มีสิทธิในเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติของไทย ในทะเลอ่าวไทยตามรัฐธรรมนูญ 2560  หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของคนชนชาวไทย   ซึ่งถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยตรง และอาจได้รับความเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  อันเนื่องมาจากการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพยังคงอยู่จากการกระทำของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และกระทรวงการต่างประเทศในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2  ในการทำ MOU 2544 ซึ่งหน่วยงานทั้งสองใช้เป็นเครื่องมือในการแบ่งเขตอธิปไตยของไทย  ทางทะเลอ่าวไทย บนพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร    หรือ 16 ล้านไร่   และใช้เป็นเครื่องมือเป็นประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติในทะเลอ่าวไทย  ซึ่งมีมูลค่า 20 ล้านล้านบาท ให้แก่กัมพูชา  ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลและผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติของไทยในทะเลทั้งหมด ตามแผนที่แนวเขตไหล่ทวีปของไทย  ด้านอ่าวไทยแนบท้ายตามประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของไทยที่กำหนดแนวเขตขึ้นตรงตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล 1982


ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า MOU 2544 มีสถานะเป็นหนังสือสัญญามีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ   ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา  ตามบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2542  คำวินิจฉัยที่ 33/2543   และคำวินิจฉัยที่ 6-7/2551 และปรากฏหลักฐานว่าหน่วยงานของรัฐทั้งสองยอมรับว่า MOU 2544 มีสถานะเป็นหนังสือสัญญาหรือสนธิสัญญา  ที่เสนอต่อรัฐสภาเพื่อความเห็นชอบ     แต่ปรากฏว่า MOU ฉบับดังกล่าว  กระทำขึ้นโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย   จึงมีผลให้เป็นบทบัญญัติใดหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงมีผลบังคับใช้ไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 5 และมีผลให้ MOU 2544 ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ ตั้งแต่เริ่มแรกและมีผลในทางกฎหมายไม่ผูกพันรัฐภาคีทั้งสองตามหลักการเรื่องความไม่สมบูรณ์แห่งสนธิสัญญา  ซึ่งบัญญัติไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยสนธิสัญญาค.ศ. 1969   

ทั้งนี้หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า MOU ฉบับดังกล่าวเป็นสัญญาที่กระทำโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ก็จะส่งผลให้ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ  ตั้งแต่เริ่มแรกและไม่มีผลผูกพันไทยจะเป็นประโยชน์ต่อไทย   หากมีข้อพิพาทเรื่องอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยไปสู่ศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ   ซึ่งจะทำให้ฝ่ายกัมพูชาไม่อาจกล่าวอ้างว่า MOU 2544 เป็นหลักฐาน ว่าไทยยอมรับว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชาจะทำให้เขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยพื้นที่ 16 ล้านไร่   และผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติมูลค่า 20 ล้านล้านบาทของไทยในทะเลอ่าวไทย  เป็นของไทยทั้งหมดตามกฎหมายระหว่างประเทศ    และหากฝ่ายกัมพูชาโต้แย้งเป็นข้อพิพาทในเรื่องเขตอธิปไตยทางทะเล     จึงเห็นว่าเพื่อให้ได้ข้อยุติระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีและรวดเร็ว   และจะเป็นประโยชน์กับฝ่ายไทย  เห็นว่าฝ่ายไทยควรเป็นฝ่ายดำเนินข้อพิพาทในเขตอธิปไตยทางทะเลฟ้องต่อศาลกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ที่นครฮัมบรูกส์ สหพันธรัฐเยอรมนี    ซึ่งเป็นกลไกตุลาการอิสระของสหประชาชาติมีอำนาจตัดสินข้อพิพาทเกี่ยวกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล  ค.ศ. 1982


นายไพบูลย์   ย้ำว่าการมายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน  อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาตรา 46 วรรค 1 มาตรา 47 และมาตรา 48     ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า MOU 2544    เป็นหนังสือสัญญาที่กระทำการโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภา บทบัญญัติ หรือการกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นอันใช้บังคับไม่ได้    ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ ตั้งแต่เริ่มแรก 

และขอให้มีคำสั่งให้กรมสนธิสัญญาและกระทรวงการต่างประเทศ ยกเลิกการกระทำในการนำ MOU ฉบับดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติทางทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา     นอกจากนี้เห็นว่าหากผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ   ตนจะขอเป็นผู้ร้องที่ 2 ร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อจะมีสิทธิ์ในฐานะคู่ความ  นำเสนอพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ     แต่หากตรวจการแผ่นดินมีมติไม่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 60 วันก็จะใช้สิทธิ์ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

นายไพบูลย์ ยังกล่าวอีกว่า  อยากให้รัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มส่งเรื่องไปยังศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ   ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า MOU 2544 ตราขึ้นโดยขัดรัฐธรรมนูญ  และไทยส่งเรื่องไปยังฝ่ายกัมพูชา หากกัมพูชาไม่เห็นด้วย เกิดเป็นข้อพิพาทระหว่าง 2 ประเทศสามารถส่งศาลระหว่างประเทศให้หาข้อยุติ    ซึ่งจะทำให้ได้ข้อยุติรวดเร็วและเป็นวิธีสันติ   เชื่อว่าน่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี


ส่วนวันนี้ที่ฝ่ายรัฐบาลยืนยันว่าพื้นที่ทับซ้อนเป็นของไทยนั้น  ส่วนตัวเห็นว่ากรณีนี้ทำให้สังคมเกิดความสับสน เพราะทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่คัดค้านให้ข้อมูลตรงกัน ซึ่งพื้นที่ตรงนั้นเป็นเพียงเกาะกูด   ส่วนตัวเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นเพราะอย่างไรก็เป็นของไทย แต่ตนพูดถึงอธิปไตยทางทะเล โดย MOU 2544  แบ่งออกเป็น 3 ส่วน   โดยส่วนแรกอยู่ระหว่างการพูดคุยกันมีปัญหาเรื่องเขตแดน    ส่วนที่ 2 และ 3 ยอมรับว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน จึงสงสัยว่าจะแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างไร     และการออกมาโต้แย้งกันไม่มีการพูดถึงภาพรวมพื้นที่ทั้ง 16 ล้านไร่ตาม MOU 2544   แบ่งพื้นที่    เว้นเกาะกูด   ขณะที่เขตไหล่ทวีปของเกาะกูดไม่ได้นำมาพูดกลับกลายเป็นการยอมรับแผนที่ของฝ่ายกัมพูชา      จึงเกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อน 16 ล้านไร่    ซึ่งมีหลักฐานยืนยันว่าทั้ง 16 ล้านไร่เป็นของไทยทั้งหมด    จึงไม่ต้องมีปัญหาเรื่องการแบ่งเขตอธิปไตยหรือผลประโยชน์ทางทะเล

อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าสุดท้ายแล้วจะต้องไปที่ศาล แต่หากยังมี MOU 2544 และตกลงกันไม่ได้  เกรงว่าหากกัมพูชานำเรื่องนี้ยื่นต่อศาลก่อนโดยใช้ MOU 2544 เป็นหลักฐาน    ไทยจะเสียอธิปไตยและผลประโยชน์ทันที   ดังนั้นฝ่ายไทยจะต้องดำเนินการและยื่นเข้าสู่ศาลก่อนเพื่อไทยจะได้เปรียบ    นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตกรณีที่ฝ่ายกัมพูชาไม่นำเรื่องพื้นที่ 16 ล้านไร่เข้าสู่ศาลทะเลระหว่างประเทศ   เพราะรู้ว่าจะเสียเปรียบ  จึงรอการเจรจาตาม MOU 2544 เพื่อให้มีหลักฐานมัดไทยยื่นฟ้องต่อศาล และเชื่อว่า MOU 2544 ไม่มีวันเจรจาตกลงกันได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องจบที่ศาล    แต่อยากจะจบที่ศาลโดยฝ่ายกัมพูชาเป็นคนยื่นหรือไทยเป็นผู้นำการยื่นก็ขึ้นอยู่กับจะคิด

“สำหรับผมข้อที่ 1 ไม่มีพื้นที่ทับซ้อน เป็นเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยเป็นผลประโยชน์ของไทยทั้งสิ้น    มีแค่แจ้งฝ่ายกัมพูชาว่าเป็นของใครและตัดคำว่าพื้นที่ทับซ้อนออกไป   ถ้าฝ่ายกัมพูชาไม่ยอมรับนำไปสู่ศาล   ข้อที่ 2 ประเด็นสำคัญคือไม่อยากให้ประชาชนเข้าใจสับสนระหว่างอธิปไตยเกาะกูดกับ MOU 2544 ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน  ใช่เรื่องที่จะต้องไปพยายามบอกว่ารักษาอธิปไตยเกาะกูด    ซึ่งเกาะกูดทำให้ประเด็นมันเบี่ยง    เกาะกูดไม่มีวันเป็นของกัมพูชา   แต่ปัญหาคือพอเกาะกูดเป็นของไทย ตามกฎหมายทะเลจะต้องแบ่งเขตไหล่ทวีปเช่นเขตจะเป็นแบบไทย    ไม่มีพื้นที่ของกัมพูชาอยู่ในเส้นไหล่ทวีป   ดังนั้นจึงถือว่าเป็นปฏิบัติการทางกฎหมายเพื่อที่จะทวงคืน  พื้นที่อธิปไตยทางทะเลเนื้อที่ 16 ล้านไร่ของไทยและทวงคืนผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล พลังงานทางทะเลมูลค่า 20 ล้านล้านบาทที่เป็นของไทย  ทวงคืนกลับมาทั้งหมด ไม่แบ่งให้ใคร” นายไพบูลย์ กล่าว.-314 .-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

ซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติฯ สุดตระการตา รับประเพณียี่เป็ง

ยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ ประดับประดาด้วยแสงไฟรับประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนท่าแพ มีการสร้างซุ้มประดับไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 14 ซุ้ม ยาวกว่า 200 เมตร.

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมรีดทรัพย์ รับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพื่อขายงาน

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมเรียกรับเงิน 20 ล้านบาท จากดิไอคอน ยอมรับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพราะต้องการขายงาน

คุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง เจ้าตัวเงียบรีบเดินขึ้นรถตู้

ตำรวจกองปราบคุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง ผู้ต้องหาปัดตอบสื่อ ด้านพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เพราะมีพฤติการณ์หลบหนี