ทำเนียบ 4 เม.ย.- กบฉ. เคาะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จังหวัดชายแดนใต้ 3 เดือน 20 เม.ย.-19 ก.ค.67 ไม่ปรับลดพื้นที่เพิ่ม เหตุยังมีความรุนแรงอยู่ ขอจับตาช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน หลังพบก่อเหตุสูง
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ครั้งที่ 2/2567 โดยมี นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้พิจารณาความเหมาะสมการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังคงมีความสำคัญต่อการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยจากการรายงานสถานการณ์ พบว่า สถานการณ์ในพื้นที่ยังคงมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น และยังปรากฏภาพข่าวการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัจจุบันอยู่ในห้วงเดือนรอมฎอน ซึ่งพบการก่อเหตุพร้อมกันหลายจุด โดยเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชน
“ที่ประชุม กบฉ. จึงมีมติขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้น อ.ยี่งอ อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง อ.สุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้น อ.ยะหริ่ง อ.ปะนาเระ อ.มายอ อ.ไม้แก่น อ.ทุ่งยางแดง อ.กะพ้อ อ.แม่ลาน และ จังหวัดยะลา ยกเว้น อ.เบตง อ.รามัน อ.กาบัง และ อ.กรงปินัง ออกไปอีก 3 ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.67 – วันที่ 19 ก.ค.67 โดยยังไม่มีการปรับลดพื้นที่เพิ่ม เพราะหลายพื้นที่ยังมีเหตุอยู่ เช่น อ.ธารโต จังหวัดยะลา ถึงแม้จะผ่านผลการประเมินในภาพรวมตามตัวชี้วัดเกินกว่าร้อยละ 80 แต่ยังคงมีสถิติการก่อเหตุความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 67 ซึ่งมติขยาย พรก.ฉุกเฉิน 3 เดือนนั้น จะเสนอคณะรัฐมนตรี วันที่ 9 เมษายน 2567” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ฝ่ายความมั่นคง ยังได้รายงานว่า ช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน จะมีการก่อเหตุมากขึ้น เพราะมีการบิดเบือนว่า หากก่อเหตุช่วงนี้ จะได้บุญที่สูงมาก ดังนั้น ตนจึงขอให้ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครอง ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในการเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด ในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน และระหว่างวันที่ 12-13 เมษายน 2567 ในวันฮารีรายอ รวมถึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาศึกษากฎหมายด้านความมั่นคงอื่น ที่จะมาใช้แทนกฎหมายพิเศษในพื้นที่ด้วย.-316.-สำนักข่าวไทย