รัฐสภา4 เม.ย.- “รอมฎอน” ชี้ นายกฯ ไม่หนักแน่นแก้ไฟใต้ หวั่นประเมินการแก้ปัญหาผิดพลาด จะสุมไฟให้ปะทุ แนะให้ลดอำนาจกองทัพ
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 โดยไม่ลงมติ นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงประเด็นปัญหาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ว่า รัฐบาลให้สัญญาต่อที่ประชุมสภาฯ ต่อการแก้ปัญหาทั้งต่อการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยย้ำถึงหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง แต่การลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อ 28 ก.พ.67 ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า ขอให้ยกโทษให้กันและกันในเหตุที่มีความรุนแรง โดยไม่รู้ว่ายกโทษให้ใคร อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ทราบว่าเร็วๆ นี้ จะมีผู้ที่เสียหายยื่นฟ้องคดีอาญาด้วย
นายรอมฏอน กล่าวว่า การใช้นิติสงครามยังคงมีในพื้นที่ และยื่นฟ้องดำเนินคดีกับนักกิจกรรมที่แต่งชุดมาลายู โดย กอ.รมน. ภาค4ส่วนหน้า ที่มีนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ ผอ. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อปิดปาก บ่อนทำลายกระบวนการสันติภาพในพื้นที่
นายรอมฎอน อภิปรายถึงความไม่ชัดเจน และความไม่คงเส้นคงวาของรัฐบาล ตนว่าปัญหาในชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่อง การเมือง อัตลักษณ์ประวัติศาสตร์ ที่มีความขัดแย้งในคนละความหมาย กับการใช้การพัฒนาเศรษฐกิจปากท้องในพื้นที่ ตนคาดหวังว่าไปไกลกว่าการมีเงินในกระเป๋า เพราะเรื่องใหญ่กว่านั้น หากคิดแค่นี้จะเสียศูนย์ได้ง่าย นอกจาก นายกฯ จงใจไม่แทรกแซงปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ เพื่อให้กองทัพ และ กอ.รมน. ดำเนินการ คล้ายมีดีลบางอย่างร่วมกัน ทั้งนี้ มองว่านายกฯ ไม่ไร้เดียงสา เพราะเคยมีแนวทางการแก้ปัญหาที่เคยเป็นหายนะ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายทักษิณ ชินวัตร
“ที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาด้วยสันติภาพ ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นมรดกตกทอดมา แต่การแก้ปัญหาด้วยเหตุนี้ รัฐบาลเศรษฐาอาจจะรู้สึกว่า ทำแล้วจะเจอรัฐประหาร หรือเหยียบเท้าใคร จึงคำนวณอย่างมั่นใจแบบนี้ ทั้งที่การสร้างกระบวนการสันติภาพ เราต้องการผู้นำพลเรือนที่แข็งแกร่ง แต่ขณะนี้พบว่าได้เซ็นเช็คเปล่าให้กองทัพ ปล่อยชะตากรรมในคนชายแดนใต้ ให้ถูกจำกัดเสรีภาพ โดยอ้างภัยความมั่นคง ให้กองทัพแข็งแกร่ง ความบกพร่องนี้ เกรงว่าจะทำให้ความรุนแรงหวนกลับมา ขอเตือนนายกฯ และผู้มีอำนาจฝ่ายบริหาร หากไม่ยืนยันอย่างแข็งแกร่ง สิ่งที่เจอในปัญหาภาคใต้ อาจจะรุนแรงเหมือนที่หลงประเมินผิดก่อนปี2547 หากไม่หนักแน่นพอ แต่หากรัฐบาลมุ่งจำกัดบทบาทของกองทัพจริงจัง เชื่อว่าฝ่ายค้านพร้อมจะเดินร่วมกันอย่างแท้จริง แต่ตอนนี้เห็นความบกพร่อง ดังนั้นผมขอให้รัฐบาลส่งสัญญาณต่อประเด็นทบทวนการฟ้องคดีตากใบ ยกเลิกกฎอัยการศึก” นายรอมฎอน กล่าว.-312.-สำนักข่าวไทย