รัฐสภา 29 มี.ค.-กมธ.สวัสดิการสังคม สภาฯ จับมือ ตร.ไซเบอร์-พม.-ดีอี-กองทุนสื่อ ลงนาม MOU ป้องกันภัยไซเบอร์ผู้สูงอายุ-กลุ่มเปราะบาง ให้ความรู้เสริมทักษะใช้โลกออนไลน์อย่างปลอดภัย เผย คดีลดแต่มูลค่าความเสียหายไม่ลด แนะ ไม่เชื่อ ไม่รีบ และไม่โอน
คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ MOU และความร่วมมือทางวิชาการในการขับเคลื่อน โครงการป้องกันภัยไซเบอร์แก่ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง โดยมีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี,สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมลงนาม ร่วมกันที่จะประสานความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง เสริมสร้างความรู้ทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัย ขยายเครือข่ายความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางในโลกออนไลน์
โดยวัตถุประสงค์ในการลงนามครั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางปัจจุบัน ที่ประเทศไทย ได้ก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการขยายตัวของเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการทางออนไลน์มากขึ้น และผู้สูงอายุมักมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ที่จำกัด ประกอบกับอาชญากรรมทางออนไลน์มีรูปแบบที่หลากหลายและชับซ้อน เช่น การหลอกลวงทางการเงิน , การฉ้อโกง และการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ส่งผลให้ผู้สูงอายุกลายเป็นเป้าหมายของอาชญากรรมทางออนไลน์ได้ง่าย ด้วยความสำคัญของปัญหาดังกล่าว การก่ออาชญากรรมทางออนไลน์ จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุ และทุกภาคส่วนในสังคมควรต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหา โดยให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุ สร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างระบบสนับสนุน เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทัน และสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่าที่ผ่านมามีการร้องเรียนเกี่ยวกับภัยทางไซเบอร์มากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี แม้ประชาชนจะมีการติดตามข่าวสารและพบความสูญเสียด้านการเงินของผู้ที่ถูกหลอกอย่างต่อเนื่อง และหลายคนก็ไม่ได้มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาได้ จึงเห็นว่ากลไกการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่นี้ ไม่สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที จึงได้เชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย เพื่อยกระดับความร่วมมือในการเพิ่มสัดส่วนการป้องกันผู้สูงอายุให้มากยิ่งขึ้น และการลงนามทำให้การดูแลผู้สูงอายุได้เริ่มต้นขึ้นและพัฒนาเรื่องของความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุที่มากกว่าเดิม เพื่อยับยั้งไม่ให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำซาก พร้อมขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือกับกรรมาธิการชุดดังกล่าวและหวังว่าผลสัมฤทธิ์จะเป็นประโยชน์สุขต่อประชาชน
พลตำรวจตรีนิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แนะนำว่า หากสงสัยว่าโดนหลอก ให้พยายามโทรศัพท์กลับไปหาบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างให้ได้ และถ้าโดนหลอกไปแล้ว มี 2 ช่องทางที่รับแจ้งความ คือ www.thaipoliceonline.go.th และ เบอร์โทร.1441 ไม่มีช่องทางอื่น เพราะเคยมีประชาชนแจ้งความผ่าน Facebook แล้วโดนหลอกซ้ำ
พลตำรวจตรีชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีบุคคลที่มีชื่อเสียงอยู่ในแวดวงต่างๆ ทั้งดารานักร้อง นักการเมือง ได้รับผลกระทบจากภัยไซเบอร์ ซึ่งปี 2566 ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 6 ประเทศที่มีอาชญากรรมออนไลน์ ส่วนปี2565อยู่ อันดับ 3 ซึ่งมีทิศทางที่ดีขึ้น และปัจจุบันคดีรับแจ้งความลดน้อยลง แต่มูลค่าความเสียหายไม่ลดลง ส่วนคดีออนไลน์ สะสม 2 ปีที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 15 มีนาคม 2567 มีทั้งสิ้น 461,044 คดี มูลค่าความเสียหาย กว่า 63,000 ล้านบาท การเปิดศูนย์ AOC ทำให้ประชาชนเกิดความสะดวกในการแจ้งความได้เร็วขึ้น เมื่อโทรแจ้งความมาที่หมายเลข 1441
ทั้งนี้ พบว่าแพลตฟอร์มที่คนร้ายใช้ในการหลอกลวงมากที่สุดอันดับ 1 คือ Facebook อันดับ 2 มาคือ Instagram อันดับ 3 คือทวิตเตอร์ หรือ x ส่วนอันดับ 4 คือ tiktok จึงย้ำเตือนว่า ต้องไม่เชื่อ ไม่รีบ และไม่โอน.-312.-สำนักข่าวไทย