เชียงใหม่ 1 มี.ค -ฝ่ายค้านสัญจรนัดแรก จ.เชียงใหม่ “ชัยธวัช” ชี้ฝุ่นพิษ PM 2.5 สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องเร่งด่วนต้องแก้ ”สุชัชวีร์” บอกต้นตอหลักมาจากภาคการขนส่ง
ฝ่ายค้านจัดเวทีเสวนา แนวทางและเครื่องมือ สำหรับการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน” โดยนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเปิดงาน ในหัวข้อ ‘ฝุ่นเศรษฐกิจ พิษการเมือง : เศรษฐกิจการเมืองเรื่องฝุ่นควัน‘ โดยระบุถึงเหตุผลในการเลือก จ.เชียงใหม่เป็นที่แรก เนื่องจากมีประเด็นฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งตนมองว่าเป็นสถานการณ์เร่งด่วนและสำคัญ แม้เราจะไม่ใช่ฝ่ายบริหาร แต่ในฐานะผู้แทนราษฎร เราก็มีบทบาทที่สามารถจะช่วยติดตาม และผลักดันมาตรการในการแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ จึงอยากมาฟังผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนในพื้นที่ ว่ามองเห็นสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร โดยเฉพาะจ.เชียงใหม่ ที่รัฐบาลยกให้เป็น ‘เชียงใหม่โมเดล‘ เพื่อให้ฝ่ายค้านสามารถช่วยติดตาม รวมถึงผลักดัน ได้อย่างสุดความสามารถ
นายชัยธวัช กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นควันสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล โดยต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด คือต้นทุนด้านสุขภาพ ซึ่งอยู่ในภาวะที่น่ากังวลมากพอสมควร เพราะมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากปัญหานี้เพิ่มมากขึ้นทุกปี แม้ปัญหา PM 2.5 จะถูกประกาศเป็นวาระแห่งชาติแล้ว แต่เมื่อดูจากตัวชี้วัดที่ใช้ประเมินความสำเร็จ ว่าวาระฝุ่นแห่งชาติไปถึงไหนแล้ว ก็มีคำถามว่าเราล้มเหลวหรือไม่
“ระบบราชการรวมศูนย์มีปัญหา ไม่ว่ารัฐบาลใหม่หรือเก่า ก็ยังเป็นการจัดการที่ให้รัฐบาลกลางคุมงบ รัฐมนตรีคุมบอร์ด ผู้ว่าฯ คุมท้องถิ่น ทำให้ผู้ปฏิบัติงานขาดแคลน ปัญหาของระบบนี้ ทำให้อำนาจและงบประมาณกระจุก ไม่กระจาย ท้องถิ่นขาดเงิน จัดสรรงบไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ตรงเป้า ทั้งยังมีกฎระเบียบเป็นอุปสรรค การบริหารรวมศูนย์แต่แยกส่วนการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการไม่เป็นจริง แต่ละกรม ต่างคน ต่างทำ ไม่มีแผนจากล่างขึ้นบน”นายชัยธวัช กล่าว
นายชัยธวัช กล่าวถึงประสิทธิภาพของภาครัฐ ที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ ตั้งเป้าหมาย แต่ไม่มีแผนรูปธรรมชัดเจน และต่อเนื่อง จัดการแบบภัยพิบัติตามฤดูกาล ตั้งคณะกรรมการเดือน ต.ค. สลายตัวเดือน พ.ค. ไม่มีระบบการจัดการเชิงโครงสร้าง และปัญหากฎหมายล่าช้า มีอย่างน้อย 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ทั้งกฎหมายอากาศสะอาด กฎหมายว่าด้วยระบบการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR), กฎหมายตลาดคาร์บอน รวมถึงการจัดการทุนใหญ่ที่เป็นปัญหา ทั้งเรื่องฝุ่นพิษข้ามแดน ที่ต้องมีมาตรการทางการค้า การทูต และข้อผูกพันในเชิงกฎหมาย และต้องขยายความรับผิดชอบไปยังเอกชนรายใหญ่
นายชัยธวัช กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องอย่ามองประชาชนเป็นผู้ร้าย อย่ามองประชาชนเป็นปัญหา แล้วโยนภาระให้ชาวบ้าน แต่ต้องสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ที่แท้จริง สอดคล้องกับพฤติกรรมของประชาชน และต้องให้ความสำคัญกับการสร้างแรงจูงใจ และทางเลือกใหม่ทางเศรษฐกิจ
ด้ายนายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พื้นที่ป่ามีอยู่ 2แบบ คือ ป่าอนุรักษ์ อยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ และพันธุ์พืช และ ป่าสงวน ซึ่งมักเข้าใจว่ากรมป่าไม้ดูแล แต่ปัจจุบันกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ดูแล ปัญหาหลักคือไม่มีงบประมาณในการจัดการไฟป่า
ส่วนในเรื่องของกฎหมาย มีการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. … เราได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า หากเป็นคณะกรรมการระดับจังหวัด จะให้อำนาจนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นประธาน และมีตัวแทนจากผู้บริหารท้องถิ่นเป็นกรรมการ เพื่อร่วมกันเขียนแผนของจังหวัดขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับการของงบประมาณอย่างชัดเจน ด้าน
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กฎหมายของกทม. ค่อนข้างเพียงพอในการจัดการกับมลพิษทางอากาศ หากอยู่เชียงใหม่จะทราบดีว่า ปัญหาเกิดจากการเผาในที่โล่ง แต่ปัญหาหลักใน กทม. มาจากภาคการขนส่ง 80 ถึง 90 เปอร์เซนต์ โดยเฉพาะรถขนส่งขนาดใหญ่เป็นต้นตอปล่อยควันพิษ จะเห็นได้ว่าช่วงเกิดโควิด-19 ระบาด ให้ทำงานที่บ้าน ปริมาณ PM 2.5 ลดลงจากเห็นได้ชัด ซึ่งตนมองว่าวิธีแก้ที่ง่ายที่สุดคือ นำเครื่องกรองออกมาทำความสะอาด หรือเปลี่ยนใหม่ รัฐบาลควรมีการรณรงค์.-312-สำนักข่าวไทย