เยอรมนี 22 ก.พ.-รมว.กต. เยือนเยอรมนี มุ่งส่งเสริมความร่วมมือทุกมิติ หวัง เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ พัฒนาภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่ยั่งยืน พร้อมเชื่อมโยงขนส่งทางทะเล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.50 น. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ตามเวลาท้องถิ่นกรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 6 ชั่วโมง นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วย นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานกรุงเบอร์ลิน โดยมีกำหนดการจะเข้าร่วมกิจกรรมเสวนาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ณ กรุงเบอร์ลิน และร่วมงาน OAV Stiftungsfest ครั้งที่ 123 ณ นครเบรเมิน ระหว่างวันที่ 20 -25 กุมภาพันธ์ 2567
โดยเมื่อมาถึง นายปานปรีย์ ได้เดินทางต่อไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน เพื่อร่วมประชุมมอบนโยบายให้แก่ทีมประเทศไทย โดยได้ย้ำถึงความสำคัญของนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของรัฐบาล และการบูรณาการทำงานระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมบทบาทไทยในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ในโอกาสนี้ ได้รับฟังความคืบหน้าและความท้าทายในการดำเนินงานจากหัวหน้าสำนักงานต่างๆ ประจำกรุงเบอร์ลิน พร้อมหารือแนวทางการทำงานในอนาคต โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อไทยและเยอรมนี
จากนั้น เวลา 16.30 น. ได้เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมกล่าวเปิดงานเสวนาไทยและเยอรมนี มุมมองและโอกาสในอินโด-แปซิฟิก ซึ่งจัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน และ มูลนิธิการเมือง Konrad Adenauer Stiftung (KAS) ภายใต้หัวข้อ “เยอรมนีและไทยจะใช้กลยุทธ์ต่างประเทศและความมั่นคงอย่างไร เพื่อมีส่วนร่วมกับอาเซียนและอินโด-แปซิฟิก”
โดย นายปานปรีย์ ระบุว่า อินโด-แปซิฟิกถือเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดกึ่งกลาง ไทยรู้สึกยินดีที่นับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา เยอรมนีให้ความสนใจกับเราเป็นพิเศษ เป็นผลมาจากแนวนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งผลักดันทางการค้า ทำให้ไทยและเยอรมนีกลายเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญระหว่างกัน ซึ่งทั้งสองประเทศเห็นพ้องว่าจะผลักดันเรื่องการเชื่อมโยง และการขนส่งทางทะเลที่ปลอดภัย
นายปานปรีย์ กล่าวว่า วันนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ เพื่อขยายความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทย-เยอรมนีให้กลายเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ รวมถึงนำพาอินโด-แปซิฟิก ก้าวไปสู่ภูมิภาคที่ยั่งยืนในทุกมิติ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสีเขียวและดิจิทัล ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงหวังเป็นอย่างว่าจะได้เห็นเยอรมนีเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกให้กลายเป็นภูมิภาคที่ปลอดภัย มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ผ่านการหารือทวิภาคีและกรอบในภูมิภาคต่างๆ.-สำนักข่าวไทย