โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ 16 ก.พ.- “จรัญ” ย้ำ จำเป็นต้องมีองค์กรอิสระ เพื่อลดความขัดแย้ง ช่วยเสียงข้างน้อยในสภาฯ ให้มีทางออก แนะคนแพ้ต้องมีสปิริต
เวทีการสัมมนาเรื่อง “ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไร” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา โดยเชิญผู้บริหารองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญมาร่วมพูดคุย
นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าปัจจุบันการมีองค์กรอิสระ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างเสียงข้างมากและข้างน้อย เพราะเสียงข้างน้อยไม่มีทางชนะในสภผู้แทนราษฎร จึงมีการเรียกร้องความยุติธรรม และพาคนลงท้องถนน จึงจำเป็นต้องมีองค์กรอิสระขึ้นมาเพื่อให้ความยุติธรรม ทั้งนี้เมื่อมีการร้องเรียน มีการตัดสิทธิ มีการยุบพรรคกาคเมือง ศาลจึงตัดสินตามกฎหมายกำหนด ยอมรับว่าว่าศาลได้รับผลกระทบพอสมควรจากคำวินิจฉัย และตนก็เคยถูกข่มขู่ ก็รู้ดี เข้าใจคนที่ถูกทุบบ้าน ถูกยุบพรรค ยืนยันศาลต้องทำตามกฎหมาย คนที่แพ้ก็ต้องมีสปิริต หาข้อบกพร่องของตัวเอง เพื่อคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ใช่ชวนประชาชนลงบนท้องถนนแล้วก่นด่าบนโลกออนไลน์ ทั้งนี้ภารกิจสำคัญที่ทำประโยชน์เพื่อประชาชนและประเทศชาติ ทำให้มีความอดทนตลอด 12 ปีในการทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่หวั่นไหว
นายจรัญ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่มีผลต่อประเทศชาติ คือระบบรัฐสภา แต่ของประเทศไทย ฝ่ายบริหารกำกับการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ทำให้ไม่ใช่เป็นระบบรัฐสภาที่ทรงอำนาจสูงสุดของประชาชนกลายเป็นสภาทาส อยู่ในกำมือพรรคการเมือง ขณะที่ผู้สมัครก็ไม่สามารถสมัครอิสระได้ จะต้องสังกัดพรรคการเมือง หากแหวกมติพรรค ก็ไม่สามารถลงสมัครเลือกตั้งในครั้งหน้าได้ เพราะพรรคมีคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้ควบคุม ซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรค ผู้ใหญ่ก็ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร อีกทั้งเบื้องหลังพรรคการเมืองก็มีกลุ่มทุนต่างๆ ควบคุมอยู่ นี่คือระบบรัฐสภาของประเทศไทย ทำให้อำนาจบริหารประเทศไปอยู่ที่ฝ่ายบริหาร และฝ่ายบริหารมีองค์คาพยพของข้าราชการประจำทั้งหมด หากฝ่ายบริหารไม่อยู่ในร่องในรอย ไม่ตรงไปตรงมา ไม่จงรักภักดีต่อประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และระบอบการปกครองของประเทศ ใครจะกำกับดูแลได้
นายจรัญ ยังยอมรับว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ต่อยอดมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น การตรวจสอบการกระทำฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงทั้งระบบ สามารถเอาผิดตั้งแต่ระดับข้าราชการ สส. สว.และรัฐมนตรี ตลอด 6 ปีที่ผ่านมาป.ป.ช.ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถเอาผิดทางด้านจริยธรรมอย่างน้อยประมาณ 6-7 ตัวอย่าง ถือเป็นคุณภาพของระบบตรวจสอบขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายต้องจบที่องค์กรตุลาการจึงจะเป็นระบบงานยุติธรรม ซึ่งแยกออกมาจากการดำเนินการทางแพ่ง อาญาและทางปกครอง อาจจะมีผิดเพี้ยนบ้าง ก็เช็คบิลเป็นรายบุคคล แต่โดยรวมแล้วเป็นระบบงานที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง โดยเฉพาะฝ่ายข้างน้อยทางการเมือง ไม่มีทางเอาชนะได้ในระบบรัฐสภา จะได้มีช่องทางผ่านระบบตรวจสอบ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา โดยระบบนี้จะต้องมีองค์กรตุลาการที่มีความเป็นกลาง เป็นอิสระจากความขัดแย้งทางการเมือง จากผลประโยชน์ในระบบทุนที่แฝงอยู่ข้างใต้ระบบการเมืองไทย เพื่อเป็นหลักประกันว่าเป็นระบบงานยุติธรรมที่มีคุณภาพมาตรฐาน ขอเพียงอย่างเดียวขอให้ยอมรับคำตัดสินสุดท้ายของฝ่ายตุลาการ
“ถ้าตุลาการทุจริตไม่อยู่ในร่องในรอย เช็คบิลตุลาการ ให้มีโทษถึงประหารไม่ได้รุนแรงเกินไป แต่ถ้าเขาไม่ได้มีพฤติกรรมอย่างนั้น ก็ขอให้เกิดอารยธรรมยอมรับคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ของศาลรัฐธรรมนูญ ของศาลปกครองสูงสุด เหมือนที่อารยธรรมในระบบการปกครองเสรีประชาธิปไตย ที่เราต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง แล้วมาแก้ปัญหากันหลังจากนั้น อย่าได้ทำแบบในบางประเทศมหาอำนาจผู้นำทางระบบประชาธิปไตยโลก อ้างตัวเองเป็นผู้นำทางเสรีประชาธิปไตย สร้างสมอารยธรรมนี้มา 200 กว่าปี แต่แล้วก็ถูกเหยียบย่ำทำลายเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ให้ฝ่ายข้างน้อยได้มีทางออก ขอให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้มีผู้ดูแล ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นของประเทศต้องสามารถป้องกันปราบปรามได้ดีขึ้นและอย่าให้ประชาชนต้องแตกสามัคคีกลายเป็นศัตรูกันโดยที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน” นายจรัญ กล่าว.-312.-สำนักข่าวไทย