รัฐสภา 23 ม.ค. – “สุรเดช” หารือประชุมวุฒิสภา ชี้ 4 ปัจจัยสำเร็จ โครงการแลนด์บริดจ์อาจไม่เกิดขึ้นจริง แนะ “นายกฯ” ฟังความเห็นให้รอบด้าน-เสียงค้าน-เสียงสนับสนุน
การประชุมวุฒิสภาวันนี้ (23 ม.ค.) มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ สว. หารือต่อที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อเรียกร้องไปยังรัฐบาล เพื่อให้พิจารณาและดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือแลนด์บริดจ์ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ด้วยความรอบคอบและรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายให้รอบด้าน ทั้งหน่วยงานของรัฐ, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, นักลงทุน, นักวิชาการ
นายสุรเดช กล่าวว่า ความเห็นของตนจากการพิจารณาข้อมูลที่ได้จากกระทรวงคมนาคม ในประเด็นปัจจัยความสำเร็จของโครงการแลนด์บริดจ์ 4 ด้าน คือ 1.ระยะเวลาที่สั้นลง ตนเห็นว่าแม้ปสภาพทางภูมิศาสตร์ประเทศไทยจะมีระยะทางที่สั้นลงเมื่อเทียบกับช่องแคบมะละกา 1,000 กิโลเมตร สามารถล่นระยะเวลาเดินเรือ เหลือเพียง 2-3 วัน แต่ของไทยไม่สามารถเดินเรือผ่านโดยตรงได้ เพราะไม่ได้ขุดคลองไทย ดังนั้น ต้องใช้การขนถ่ายสินค้า จากเรือขนาดใหญ่ 2-3 หมื่นทียู ซึ่งจะใช้เวลาขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ 3 วัน จากนั้นต้องใช้การขนส่งทางรถ และรถไฟ 1 วัน จากท่าเรือระยองไปชุมพร จากนั้นเมื่อถึงท่าเรือต้องขนถ่ายสินค้าลงเรือ อีก 3 วัน ซึ่งรวมเวลา 7 วัน ดังนั้น ที่กระทรวงคมนาคมแจ้งว่าจะสั้งลงนั้นจริงหรือไม่ เพราะต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นถึง 5 วัน
นายสุรเดช กล่าวว่า 2.ค่าใช้จ่าย เมื่อมีการขนถ่ายสินค้าจากเรือไปการขนส่งอื่น รวม 6 ครั้ง ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายประมาณหมื่นบาท ไม่ทราบว่าประหยัดค่าใช้จ่ายจริงหรือไม่ 3.มีอุตสาหกรรมหลังท่า หรืออุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยกรรมาธิการแลนด์บริดจ์ของสภาฯ ศึกษาและระบุว่าโครงการดังกล่าวจะสำเร็จได้ เมื่อมีอุตสาหกรรมหลังท่า หรือเอสอีซี ทั้งนี้ ต้องพิจารณาจุดแข็งของพื้นที่ที่นำไปสู่ความสำเร็จ เมื่อเทียบกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ดำเนินการ 10 เมือง ยังไม่พบความสำเร็จ ขณะที่โครงการอีอีซี ที่มีโครงการปิโตรเคมี แต่จนถึงวันนี้ยังไม่สำเร็จเท่าที่ควร และ 4.ผู้ร่วลงทุน จากที่มีมติ ครม. ให้ทำโรดโชว์ในต่างประเทศ ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เดินทางไปแล้ว 4 ประเทศ ตนขอเรียกร้องให้นายกฯ ชี้แจงว่ามีนักลงทุนหรือประเทศใดสนใจหรือไม่ เพราะตามข้อมูลของกระทรวงคมนาคม กำหนดเงื่อนไขให้เอกชนลงทุน 100%
“หลักการการทำโครงการขนาดใหญ่มีผลได้และผลเสีย ซึ่งการดำเนินดังกล่าวต้องการสร้างเพื่อทดแทนความคับคั่งที่ช่องแคบมะลากา ซึ่งเป็นการแข่งขันการเดินเรือสินค้ากับสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่ปัจจัยความสำเร็จตามข้อมูลของกระทรวงคมนาคมใน 4 ประเด็นนั้น ตนขอตั้งคำถามว่าสำเร็จได้จริงหรือไม่ ดังนั้น ควรรับฟังข้อมูลให้รอบด้าน แม้จะสร้างเสร็จแล้วต้องดำเนินการต่อ ไม่ทำให้รกร้าง เพราะจะแข่งขันไม่ได้ ตามที่กระทรวงคมนาคมอ้างว่าช่องแคบมะละกาคับแคบ แต่พบว่ามีความกว้างกว่า 100 กิโลเมตร ขณะที่สิงคโปร์ยังมีการปรับปรุงเพื่อรองรับการเดินเรือที่เพิ่มมากขึ้น” นายสุรเดช กล่าว
นายสุรเดช กล่าวว่า นายเศรษฐา ที่นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประชุมนอกสถานที่ และวานนี้ (22 ม.ค.) ลงพื้นที่พร้อมตรวจเยี่ยมพื้นที่ก่อสร้างใน จ.ระนอง ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ เพื่อรองรับเรือสินค้า 20 ล้านทียู ย่อมมีคนค้านและคนสนับสนุน ดังนั้น นายกฯ ต้องรับฟังข้อมูลรอบด้าน ทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบและผู้สนับสนุน.-312.-สำนักข่าวไทย