กระทรวงมหาดไทย 17 ม.ค.-มท.1 เชิญ ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-ตร.ประชมวางแนวทางป้องกันทุจริตสอบขรก.ท้องถิ่น เตรียมทำ MOU 26 ม.ค.นี้ มอบรองปลัดมท.สอบหลังมีข่าวเรียกรับสินบน 7แสน ลั่นใครทำผิดไม่เอาไว้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังประชุมหารือกำหนดแนวทางป้องกันต่อต้านและปราบปรามการทุจริตการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นปี 2567 กรณีว่าจ้างมหาวิทยาลัยบูรพาเป็นผู้จัดสอบข้าราชการหรือพนักงานท้องถิ่นปี 2567 ว่า เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐ และเข้ามาตามขั้นตอนคัดเลือกเพื่อมาจัดสอบผู้ที่ต้องการเป็นข้าราชการท้องถิ่นมากถึง 500,000 คน ไม่มีทางที่กระทรวงมหาดไทยจะจัดสอบเองได้ และไม่มีสถานที่ในการจัดสอบที่จะทำให้เอื้อต่อการทุจริตใดๆและสามารถควบคุมกำกับดูแลได้ แต่การที่ให้มหาวิทยาลัยมาจัดสอบเพราะมีความเชี่ยวชาญและสามารถจัดสอบได้ตลอดเวลา
เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยบูรพาร้องเรียนเรื่องการจัดสอบไม่โปร่งใส ได้พิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เพราะเรื่องนี้เป็นการทำงานร่วมระหว่างรัฐกับรัฐ ถ้าทุจริตใครจะได้ประโยชน์ สื่ออย่าเพิ่งไปตั้งคำถามที่จะเกิดเรื่องทุจริตได้ ฟังแล้วไม่สมเหตุสมผล
“ส่วนที่มีกระแสข่าวเรียกเก็บเงิน 700,000 บาทเพื่อสอบเข้าเป็นข้าราชการท้องถิ่น ผมมอบหมายให้รองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานตรวจสอบเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ หากเกิดขึ้นจริง ข้าราชการจำนวน 6,000 คนจ่ายคนละ 700,000 บาทก็จะเป็นเงิน 4,200 ล้านบาท หากผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยไม่รู้เรื่องเลย เราก็คงเป็นกระทรวงไม่ได้แล้ว ยืนยันคนในกระทรวงมหาดไทยทุกระดับคงไม่มีใครเอาตัวเข้าไปเกลือกกลั้วกับเรื่องเหล่านี้แน่นอน แต่ในเมื่อมีมูลและมีควันเราก็ต้องไปตรวจสอบว่าจริงหรือไม่ หรืออาจเป็นการแอบอ้างแบบคอลเซ็นเตอร์ มีตัวการที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแต่ไปแอบอ้าง เช่น ความสัมพันธ์อะไรต่างๆและหลอกลวงกันไป” นายอนุทิน กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การประชุมวันนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการป้องกันการทุจริตร่วมประชุม ประกอบด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ( บก.ป.ป.ป.) และถ้าเจอคนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตต้องขึ้นบัญชีดำให้หมด และดำเนินคดีอย่างเข้มงวด หากพบของกลางที่จ่ายเป็นเงิน ต้องยึดเป็นของแผ่นดินให้หมด และวันที่ 26 ม.ค.นี้จะมีการลงนาม MOU กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ กระทรวงมหาดไทยไม่มีแนวทางหรือความคิดให้เกิดการทุจริตในการสอบข้าราชการท้องถิ่น
เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยราชมงคล เทคโนโลยีธัญบุรีชนะการประกวดราคาในการจัดการสอบแต่ทำไมเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยบูรพา นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องสอบถามอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเป็นเรื่องของรายละเอียด แต่ตนรับทราบกระแสข่าวเรื่องจ่ายเงิน 700,000 บาท ตนก็เต้นเป็นเจ้าเข้า โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อแก้ปัญหา เพื่อแสดงให้เห็นเราต้องต่อต้านการทุจริตเช่นนี้
ด้านนายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ชี้แจงสาเหตุที่ต้องเปลี่ยนมหาวิทยาลัยจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็น มหาวิทยาลัยบูรพา ว่า เป็นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่มีการประมูลกันแล้ว และจากนั้นก็ยื่นอุทธรณ์ไปที่กรมบัญชีกลาง ซึ่งกรมบัญชีกลางให้มาดูในเรื่องของการชั่งน้ำหนักของคู่สัญญา โดยมหาวิทยาลัยบูรพามีน้ำหนัก และประสบการณ์จัดสอบแข่งขันมากกว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จึงทำให้มหาวิทยาลัยบูรพาชนะการประกวด
เมื่อถามว่าคำนึงถึงประวัติในอดีต หลังมหาวิทยาลัยบูรพาเคยมีเรื่องร้องเรียนเรื่องทุจริตหรือไม่ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า เรื่องนี้คณะกรรมการดูอยู่ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาและเสนอขึ้นมา ซึ่งในน้ำหนักจะมีอยู่ประมาณ 4-5 ส่วน โดยมีงบประมาณที่ลงไว้อยู่ที่ประมาณ 85 ล้านบาท มีผู้สมัครสอบประมาณ 5 แสนคน และมีตำแหน่งว่าง 6,100 อัตรา.-317.-สำนักข่าวไทย