รัฐสภา 26 ธ.ค.-“สมชาย” เผยคำแถลงการณ์กสม.ถูกราชทัณฑ์บิดเบือนการจำแนกนักโทษ ชี้คุมขังนอกคุกต้องไม่ใช่บ้าน จี้เปิดหนังสือต่อเวลารักษา “ทักษิณ” พร้อมรูปถ่ายร่วมกับผู้คุมที่ต้องส่งรายงานทุก 2 ชั่วโมง
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวในที่ประชุมวุฒิสภาถึงผลการประชุมของคณะกรรมาธิการฯ วานนี้ (25 ธ.ค.) ที่เชิญกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) และผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมมาชี้แจงกรณีการออกระเบียบการคุมขังนอกเรือนจำ การพักโทษ และคำแถลงการณ์ของกสม.ที่ถูกกระทรวงยุติธรรมนำไปใช้อ้างอิง ซึ่งกสม.ยืนยันว่าไม่ตรงตามที่กระทรวงยุติธรรมแถลงข่าว
“แต่สอดคล้องกับความเห็นของกรรมาธิการฯ ที่เคยเสนอความเห็นไปยังรัฐบาล ถึงการลดปัญหาความแออัดของเรือนจำ ที่ควรแยกขังผู้ที่ยังไม่ได้ถูกศาลพิพากษา รวมถึงผู้ป่วย ผู้เปราะบางในวาระสุดท้าย เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV ภูมิคุ้มกันบกพร่อง มะเร็งระยะสุดท้าย หรือสตรีตั้งครรภ์ และระยะเวลาการต้องโทษเหลือไม่มากที่ควรได้รับการลดโทษ พักโทษ หรือปล่อยตัวแบบมีเงื่อนไข หรือไปอยู่ในสถานที่คุมขังอื่น ดังนั้น คำแถลงการณ์ของ กสม.จึงไม่ตรงกับการสื่อสารของฝ่ายการเมืองที่จะใช้พักโทษสำหรับนักโทษบางคน” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจมีผลกระทบต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ กฎกระทรวงปี 2563 ที่ออกมาบังคับใช้ก่อนหน้านี้ รวมถึงระเบียบราชทัณฑ์เรื่องการคุมขังนอกเรือนจำ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 และขัดต่อประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเข้ารับพักโทษ เนื่องจากจำเป็นร้ายแรง พิการ หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งตามเนื้อหาในกฎกระทรวงระบุถึงการใช้สถานที่คุมขัง ให้เป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนด สามารถป้องกันการหลบหนีของนักโทษได้ และได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษที่ระบุตามคำพิพากษา หรือไม่น้อยกว่า 10 ปี ในกรณีต้องโทษจำคุกเกิน 30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งขัดต่อระเบียบกระทรวงที่ระบุถึงบ้านพัก ที่อยู่อาศัย เป็นสถานที่คุมขังได้
“ตามเจตนารมณ์คือเมื่อนักโทษที่เหลือโทษน้อย ผ่านคัดกรองผ่านแล้ว สามารถไปทำงานในโรงงานเขตนิคมอุตสาหกรรมและพักค้างแรมได้ แต่ไม่ใช่การกลับไปพักอาศัยที่บ้านที่สะดวกสบาย และไม่มีลักษณะคุมขัง รวมถึงยังออกระเบียบราชทัณฑ์มารับรองอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งจะเห็นได้ว่ากฎกระทรวงและระเบียบกรมราชทัณฑ์อาจเกิดปัญหา และหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษนั้น นักโทษเด็ดขาดที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ให้อนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยพักโทษ โดยนักโทษจะต้องไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อย และมีโทษจำคุกเหลือไม่ถึง 10 ปี จึงเรียกร้องไปยังกระทรวงยุติธรรม พิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวว่า กรรมาธิการฯ ได้รับคำชี้แจงการกรมราชทัณฑ์เรื่องการพักรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่โรงพยาบาลตำรวจที่เกิน 120 วันแล้ว ซึ่งผู้บัญชาการเรือนจำใช้หลักเกณฑ์เกณฑ์อนุมัติให้นายทักษิณพักรักษาตัวต่อ โดยยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์และส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้ว เพราะเมื่อครบ 30 วันผู้บัญชาการเรือนจำได้ส่งความเห็นไปยังอธิบดี เมื่อครบ 60 วันขออนุมัติอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และแจ้งปลัดกระทรวงยุติธรรมทราบ และเมื่อครบ 120 วัน ผู้บัญชาการเรือนจำได้ทำความเห็นผ่านไปยังรัฐมนตรีเพื่อทราบ พร้อมหลักฐานความเห็นคำวินิจฉัยของแพทย์
“กรมราชทัณฑ์ไม่มีอำนาจนำตัวผู้ต้องขัง ออกจากโรงพยาบาล เพราะแพทย์ได้ลงนามรับรองในใบการรักษาประกอบที่แนบไปพร้อมกับคำขอให้นักโทษพักรักษาตัวต่อเนื่อง จึงเรียกร้องไปยังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้ตรวจสอบอาการป่วยของนายทักษิณ เพราะโรคที่ทราบทั้งความดันโลหิตสูง โควิด-19 เส้นเลือดตีบ และติดเชื้อที่ปวด รวมถึงข้อกระดูกเสื่อม ถือเป็นโรคปกติที่ไม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวเกิน 120 วัน คณะแพทย์ที่ประชุมร่วมกับกรรมาธิการฯ เมื่อวานนี้ (25 ธ.ค.) ให้ความเห็นว่า หากเป็นอาการเกิน 120 วัน อาจจะต้องป่วยร้ายแรง เป็นวาระสุดท้าย หรือร้ายแรงมากถึงขั้นติดเตียง” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวว่า กรรมาธิการฯ ได้สอบถามผู้แทนกรมราชทัณฑ์ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์ทราบว่าไม่เคยไปพบนักโทษที่โรงพยาบาลตำรวจเลย ทั้งที่ตามระเบียบจะต้องใส่กุญแจมือ ตีตรวน ส่งเจ้าหน้าที่ไปเฝ้าผลัดละ 2 คน และจะต้องตรวจเวชระเบียน ลงบันทึกผู้เยี่ยม รวมถึงถ่ายภาพคู่กับผู้ต้องขังเพื่อรายงานต่อผู้บังคับบัญชา แต่ที่ทราบมีเพียงผู้คุมนักโทษผลัดละ 2 คนเท่านั้น จึงเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไปตรวจที่โรงพยาบาลตำรวจว่าแพทย์ผู้รักษาโรงพยาบาลตำรวจ ให้การเท็จหรือไม่ และนายทักษิณ ป่วยด้วยโรคใดถึงต้องรักษาตัวต่อเนื่องเกิน 120 วัน เพื่อให้สังคมรับทราบ
“ขณะนี้ยังมีความเคลือแคลบสงสัย ซึ่งกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ กรรมาธิการสาธารณะสุขและกสม.พร้อมให้ความช่วยเหลือ และร่วมติดตามตรวจสอบด้วย พร้อมเรียกร้องให้ผู้บัญชาการเรือนจำส่งเอกสารและใบรับรองแพทย์ที่ขออนุญาตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมื่อคราวขอต่ออายุการรักษานายทักษิณ 30 วัน, 60 วัน และ 120 วัน เพื่อให้กรรมาธิการฯ พิจารณาว่า เหตุใดแพทย์จึงลงความเห็นให้นายทักษิณต้องรักษาตัวต่อเนื่อง เพราะแพทย์โรงพยาบาลตำรวจยืนยันว่าไม่มีอำนาจอนุญาต ขอให้กรมราชทัณฑ์ส่งรูปถ่ายผู้คุมขังถ่ายคู่กับนักโทษทุก ๆ 2 ชั่วโมงมายังกรรมาธิการฯ ตั้งแต่วันแรก จนครบ 125 ในวันนี้ (26 ธ.ค.)” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวว่า รู้สึกเห็นใจกรมราชทัณฑ์ที่หลายคนขอย้ายตัวออกจากหน่วยไปอยู่กรมหรือกระทรวงอื่น ขอให้ข้าราชการลุกขึ้นชี้แจงความจริงให้ผู้บริหารฝ่ายการเมืองได้เข้าใจ เหมือนปัญหาในกระทรวงพาณิชย์ที่ผ่านมาในอดีต จนสามารถดำเนินคดีจำนำข้าวได้ แต่หากข้าราชการ เผลอไปทำตามคำสั่งฝ่ายการเมือง เพื่อประโยชน์อื่นใด จะต้องคำนึงถึงอดีตข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ที่ถูกจำคุกอยู่ จึงขอให้กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ควบคุมนักโทษอย่างมีประสิทธิภาพ ให้การแก้ปัญหาบ้านเมืองเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมา
“แต่หากยังขาดความสามารถ จึงขอให้ฝ่ายค้าน ได้ตัดงบกรมราชทัณฑ์ให้หมด เพราะถือว่าหน่วยงานนี้ขาดความจำเป็นแล้ว หากให้นักโทษไปคุมขังที่บ้านได้ รวมถึงการแก้ไขพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม เพื่อจัดตั้งศาลแผนกบังคับโทษ หลังระเบียบราชทัณฑ์ เหนืออำนาจตุลาการ สามารถลดโทษคำพิพากษาจำคุกของศาลได้” นายสมชาย กล่าว.-312.-สำนักข่าวไทย