รัฐสภา 13 ธ.ค.- “ก้าวไกล” ดันยก ร่างพ.ร.บ.ระบบการแจ้งเตือนภัยแห่งชาติ เป็นกฎหมายกลาง บูรณาการทำงานร่วมหลายหน่วยงาน ทวง กระทรวงดีอีเอส สร้าง Coll Broadcast ภายใน 1 ปี- IPAWS ภายใน 4 ปี ขณะที่ กมธ.ดีอีเอส ตั้งอนุกรรมาธิการศึกษาฯ
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิทักษ์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจ และสังคม พร้อมด้วย สส.ของพรรคก้าวไกล กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระบบแจ้งเตือนภัยแห่งชาติ ว่า หลังเหตุกราดยิงที่พารากอน นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้ถามนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถึงแผนการสร้างระบบเตือนกัยแห่งชาติ ซึ่งนายประเสริฐ ตอบด้วยความชัดเจนว่า จะมีระบบเตือนภัยแบบ Coll Broadcast ภายในระยะเวลา 1 ปี และ IPAWS (Integrated Public Alert & Waming System) ภายในระยะเวลา 4 ปี แน่นอนว่า เป็นนโยบายที่พรรดก้าวไกล สนับสนุนอย่างยิ่ง และได้พยายามผลักดันเรื่องนี้ ตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว ในทุกครั้งที่เกิดโศกนาฏกรรม เพราะระบบดังกล่าวจะสามารถเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงพื้นที่อันตราย และลดความสูญเสียที่เกิดจากเหตุการณ์ไม่ดาดคิดได้
นายปกรณ์วุฒิ ยังกล่าวว่า ระบบนี้ยังสามารถเตือนภัยที่เกิดจากธรรมชาติให้ประชาชนได้รู้ล่วงหน้า เพื่อเตรียมตัวอย่างทันท่วงที ลดการสูญเสียทรัพย์สินและชีวิตได้ ทั้ง ภัยแล้ง น้ำป่าไหลหลาก แผ่นดินไหว ซึ่งถ้าหน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถทำงานร่วมกัน และมีระบบแจ้งเตือนภัยที่สามารถส่งสัญญาณเตือนทุกคนได้ แต่ด้วยข้อจำกัดที่ว่า หน่วยงานราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านภัยพิบัติกระจายกันอยู่ 5 หน่วยงาน 4 กระทรวง แต่กลับขาดกฎหมายกลางที่สามารถทำให้หน่วยงานเหล่านี้กันบูรณาการการทำงานกันได้ดังนั้น พรรคก้าวไกลมองว่า นโยบายไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีร่างกฎหมายกลางให้อำนาจหน่วยงานใดหน่วงงานหนึ่งในการรวบรวม แล้วจัดทำระบบเตือนภัย IPAWS ขึ้นมาครอบคลุมภัยต่างๆ ทั้งหมด
ส่วน จะสามารถมีพ.ร.บ.ระบบการแจ้งเตือนภัยแห่งชาติ ได้นั้น นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ต้องยกเลิกระเบียบต่างๆ ที่ขัดต่อร่างกฎหมาย แล้วใช้ผู้เชี่ยวชาญในการร่างกฎหมาย ด้วยการผลักดันยกร่างกฎหมายผ่านคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ตนนั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการ ซึ่งพรรครัฐบาล และประธานคณะกรรมาธิการให้การสนับสนุน ด้วยการตั้งอนุกรรมาธิการศึกษาฯ
ด้านนายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า สิ่งที่เราคาดหวังจากร่างกฎหมายคือ การสร้างระบบแจ้งเตือนที่ตอบสนองทันท่วงทีผ่านทุกช่องทางการสื่อสาร เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ หากมีการแจ้งเตือนก็จะสามารถลดผลกระทบ และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการภัยพิบัติด้วยการประสานงานระหว่างรัฐและเอกชน และสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน หลังจากมีพ.ร.บ.ระบบการแจ้งเตือนภัยแห่งชาติ แล้ว จะตั้งศูนย์รวบรวมข้อมูลไว้แห่งเดียวให้การแจ้งเตือนมีประสิทธิภาพและคาดการณ์ภัยพิบัติที่จะเกิดในอนาคต รวมถึงฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รับมือภัยพิบัติ.-318.-สำนักข่าวไทย