รัฐสภา 30 พ.ย.-“ณัฐพงษ์” เผยร่างงบฯ ปี 67 ตั้งวงเงิน 3.48 ล้านบาท จากที่หน่วยงานขอ 5.8 ล้านล้านบาท จี้รัฐบาลชัดเจนเรื่อง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านขัดกฎหมายหรือไม่ ชี้ย้อนแย้งเดินหน้าแก้หนี้ใประชาชน แต่กลับสร้างหนี้สาธารณะกู้เงินดิจิทัล
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ เปิดเผยถึงวาระการพิจารณาในวันนี้(30 พ.ย.) ว่าเป็นการเรื่องการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากสถานการณ์เอลนีโญ่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งงบที่ถูกตั้งขึ้นจะเป็นโครงการเกี่ยวกับการสร้างฝายเก็บน้ำเก็บน้ำ โดยตั้งเป้าพิจารณาเพื่อการใช้งบประมาณ ให้เกิดความรอบคอบและมีความคุ้มค่าสูงสุด
“ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ได้เชิญหน่วยงานมาชี้แจงวงเงินที่ตั้งขอมา 5.8 ล้านล้านบาท แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติหลักการเหลือ 3.48 ล้านล้านบาท ส่วนรายละเอียดโครงการต่าง ๆ คาดว่าจะเสนอขสู่การพิจารณาของครม.ในวันที่ 26 ธ.ค.นี้ โดยจะนำข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานมาประกบข้อมูลที่ออกมาจากสำนักงบฯ เพื่อดูว่าการจัดสรรงบประมาณระหว่างคำของงบประมาณกับที่สำนักงบประมาณอนุมัติมีความเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนหรือไม่” นายณัฐพงษ์ กล่าว
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ในตัวงบประมาณปี 2567 ไม่มีงบที่เกี่ยวข้องกับการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลจะนำไปใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัล วอเล็ต 10,000 บาท และมีความชัดเจนมาอยู่แล้วว่าแหล่งที่มาของเงินของโครงการดังกล่าว ไม่สามารถใช้ในและเงินจากงบประมาณเป็นหลักได้ ซึ่งรัฐบาลได้ชี้แจงมาแล้วว่าจะออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน ซึ่งมีปัญหาหลายอย่างตามที่ทราบกัน เช่นจะขัดต่อกฎหมายวินัยการเงินการคลัง และกฎหมายหนี้สาธารณะหรือไม่ ขณะนี้รอความชัดเจนจากกฤษฎีกา ซึ่งในฐานะกรรมาธิการและประชาชนต้องการความชัดเจนเรื่องนี้
“จากข้อมูลที่ได้จากการเรียกหน่วยงานมาให้ข้อมูลการของบประมาณปี 2567 พบว่ายังมีเรื่องระเบียบกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลางเกี่ยวกับการแบ่งชั้นผู้รับเหมา ที่ชี้ชัดว่าผู้รับเหมาชั้นพิเศษ ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ระเบียบดังกล่าวเอื้อให้เกิดการฮั้วประมูลหรือไม่ จึงตั้งข้อสังเกตว่าผู้รับเหมาที่ประมูลงานปีละหลาย 10,000 ล้านบาทอาจมีการฮั้วประมูล จึงเรียกหน่วยงานเข้ามาชี้แจง เพื่อแก้ไขระเบียบต่าง ๆ” นายณัฐพงษ์ กล่าว
สำหรับการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านตั้งเป้าที่จะเปิดเผยแผนการของงบประมาณปี 67 ของหน่วยงานในวงเงิน 5.8 ล้านล้านบาทที่จะเข้าวาระพิจารณาสภาฯ ต้นมกราคม 2567 ให้สส.ทั้ง 500 คนช่วยอภิปรายตรวจสอบ เพราะสำนักงบประมาณเป็นหน่วยงานเดียวที่พิจารณาจัดสรรงบประมาณ และใช้หลักเกณฑ์ใด ที่ตัดเหลือ 3.48 ล้าน อีกทั้งงบฯปี 2567 ล้าช้ามากว่าครึ่งปี ซึ่งจะกระทบต่องบประมาณการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานหรือการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่สามารถเบิกจ่ายได้ จึงคาดหวังให้ร่างกฏหมายงบประมาณผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว
นายณัฐพงษ์ กล่าวถึงนโยบายแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาล ว่า การแก้หนี้ให้ประชาชนถือเป็นประโยชน์ แต่การดำเนินการของรัฐบาลมีความย้อนแย้งในตัวเอง เนื่องจากรัฐบาลบอกจะแก้หนี้ให้ประชาชน แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลกำลังจะออกพระราชบัญญัติกู้เงินสร้างหนี้สาธารณะให้ประชาชน จึงอยากเชิญชวนประชาชนตั้งคำถามต่อรัฐบาลว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ในโครงการดังกล่าว
“ร่างกฏหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 จะเข้าวาระสภา ฯ ต่อจากงบฯปี 2567 โดยกรรมาธิการชุดนี้ ตั้งใจจะให้มีร่างงบฯปี 2568 ประกบร่างของรัฐบาล ซึ่งหลายประเทศมีโมเดลดำเนินการในลักษณะนี้ โดยในช่วงปลายปีที่เป็นช่วงกำหนดการส่งคำของบประมาณปี 2568 ของแต่ละหน่วยรับงบประมาณกรรมาธิการจะเรียกหน่วยงานเข้ามาชี้แจงถึงข้อมูลคำของบประมาณปี 2568” .-312.-สำนักข่าวไทย