19 พ.ย. – “ปลัด อว.” ขานรับนโยบาย “อนุทิน” ยึด “ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์-หลักคุณธรรม” พร้อมชู “ธัชชา : TASSHA” ใช้เทคโนโลยีพัฒนาประวัติศาสตร์
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวหลังจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการลงนามข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ว่าด้วย “การสร้างทรัพยากรมนุษย์ของชาติ เป็นคนที่มีจิตสำนึกรักชาติ ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และยึดมั่นสถาบันสำคัญของชาติ” ของ 4 กระทรวง อาทิ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงแรงงาน และกระทรวง อว. เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 66 ที่ผ่านมาว่า สิ่งที่รองนายกฯ อนุทิน ชาญวีรกูล ได้มอบนโยบายมานี้มีความคิดเห็นที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวง อว. ที่ได้มอบให้กับคณะผู้บริหาร เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 66 โดยยึดมั่นชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และเน้นหลักคุณธรรม อีกทั้งให้ความสำคัญกับเรื่องประวัติศาสตร์ของชาติ และจริยธรรม
ในส่วนของข้าราชการใหม่ได้มีการให้นโยบายว่า การรับข้าราชการใหม่ในการสอบภาค ข. หรือภาค ค. กำหนดให้มีการเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เข้าไปเพื่อที่จะได้ให้ผู้สมัครได้แสดงวิสัยทัศน์ และในขั้นตอนสัมภาษณ์จะมีการถามซ้ำอีกครั้ง เพื่อเป็นการกลั่นกรองบุคลากรเข้ามาสู่ระบบราชการ แนวทางนี้จะนำไปใช้กับองค์การมหาชน ซึ่งมีอยู่สิบกว่าแห่ง อีกทั้งหน่วยงานในกำกับด้วย สำหรับมหาวิทยาลัยจะเข้าไปเน้นย้ำอีกที โดยใช้วิธีการที่เหมาะสม
ปลัดกระทรวง อว. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อปี 2564 ทางกระทรวง อว. มีการจัดตั้งวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสาตร์แห่งประเทศไทย หรือ “ธัชชา” (TASSHA : Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and arts) ประกอบด้วย 5 สถาบัน คือ สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา, สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง, สถาบันโลกคดีศึกษา, สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ และสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น โดยใช้เทคโนโลยีที่เรามีอยู่เข้าไปพัฒนาประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทย อาทิ วัด ดินแดนสุวรรณภูมิ ฯลฯ นี่คือการสอดรับกับนโยบายของรองนายกฯ อนุทิน เป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการปลูกจิตสำนึกให้รักชาติ และรักแผ่นดินไทย โดยเห็นว่าควรพัฒนาร่วมกัน เพราะเราเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ทุกอย่างถ้ามีการจัดระบบให้ดีจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนประเทศไทยมากขึ้น
อย่างไรก็ดี นายเพิ่มสุข กล่าวทิ้งท้ายว่า คำว่า รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มีนัยยอยู่คือ 1) รักชาติ ทุกประเด็นจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก เมื่อไปคุยกับนานาชาติ ต้องคำนึงว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไร 2) ทุกศาสนา เราจะต้องเข้าให้ถึง เข้าไปบำรุง ให้ความเคารพนับถือ และ 3) สถาบันกษัตริย์ ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของความมั่นคงของประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางที่ให้นโยบายกับข้าราชการกระทรวง อว. เพราะการปลูกจิตสำนึกเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในระยะยาวอย่างยั่งยืนต่อไป.-สำนักข่าวไทย