ทำเนียบรัฐบาล 14 พ.ย.-“รัดเกล้า” เผยผลการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 65 ใช้งบกว่า 200 ล้านบาท ดำเนินคดี-อายัดทรัพย์ได้เพิ่มจากปี 64
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2565 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอจัดทำประจำปี 2565 โดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำหรับดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จำนวน 292.18 ล้านบาท
“ผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ 1. ด้านการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย เช่น สืบสวนสอบสวนดำเนินคดีค้ามนุษย์จำนวนมากขึ้น ปี 2564 จำนวน 188 คดี ปี 2565 จำนวน 253 คดี เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.57 จับกุมคดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 482 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 403 คดี ที่มีจำนวน 79 คดี โดยขยายผลเป็นคดีค้
ามนุษย์ถึง 41 คดี นับเป็นสถิติสูงที่สุดในรอบ 8 ปี ยึดอายัดทรัพย์สินผู้ต้องหาในปี 2564 มีคำสั่งยึดอายัดจำนวน 15 คดี เป็นเงินจำนวน 4,926,275.05 บาท ปี 2565 จำนวน 84 คดี เป็นเงินจำนวน 40,882,661.75 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 729.89” นางรัดเกล้า กล่าว
นางรัดเกล้า กล่าวว่า 2. ด้านคุ้มครองช่วยเหลือ เช่น คุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ในสถานคุ้มครองของรัฐและเอกชน จำนวน 202 คน โดยเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จำนวน 161 คน และเป็นผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ จำนวน 41 คน คุ้มครองผู้เสียหายในสถานคุ้มครอง ใช้ระยะเวลาโดยเฉลี่ยคิดเป็น 129 วัน ลดลงจาก 143 วัน ในปี 2564 และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ซึ่งมีระยะเวลาคุ้มครองโดยเฉลี่ยสูงถึง 288 วัน ลดลงกว่าร้อยละ 55 (159 วัน)
“3. ด้านป้องกัน เช่น ออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2565, ตรวจสถานประกอบการกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็ก จำนวน 941 แห่ง (จากทั้งหมด 30,453 แห่ง) พบการกระทำความผิด จำนวน 857 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นความผิดฐานจ่ายค่าจ้างไม่ตรงกำหนด ไม่พบการกระทำความผิดฐานใช้แรงงานเด็ก หรือการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ เฝ้าระวังและป้องกันผู้มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานต่างประเทศ ณ ด่านตรวจคนหางาน จำนวน 71,270 คน ระงับการเดินทาง จำนวน 383 คน และตรวจบริษัทจัดหางานให้คนไทยเพื่อไปทำงานต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงแรงงาน จำนวน 132 แห่ง โดยไม่พบการกระทำความผิด” นางรัดเกล้า กล่าว
นางรัดเกล้า กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป เช่น เพิ่มความรวดเร็วและความถูกต้องในการสนับสนุนข้อมูลจากส่วนกลางให้กับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ อบรมให้ความรู้สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่คำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจของผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่สถานคุ้มครองของรัฐและเอกชนฯ ปรับปรุงมาตรฐานการปฏิบัติงานการตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อแสวงหาข้อบ่งชี้สำหรับบุคคลที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาผลประโยชน์ด้านแรงงานบังคับ หรือการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง.-สำนักข่าวไทย