กรุงเทพฯ 25 ต.ค.- “2 อนุกรรมการประชามติฯ” ประชุมวางกรอบการทำประชามติ-แนวทางรับฟังความเห็นประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่ม เตรียมหารือส่งหนังสือเชิญ “ก้าวไกล-นักศึกษา-ภาคประชาสังคม-ไอลอว์” พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น
นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กล่าวถึงความคืบหน้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคเพื่อไทยยืนยันหลักการสำคัญคือเราจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีในครั้งแรกก็ได้มีการมอบหมายให้เดินหน้าเกี่ยวกับเรื่องการทำประชามติเพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
นายชนินทร์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยืนอยู่บนความเป็นจริง เพราะเรามีบทเรียนมาแล้วจากการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อนหน้านี้มาแล้วหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถแก้ไขได้ จึงเชื่อมั่นว่าแนวทางการทำประชามติโดยพี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมนั้น จะเป็นหนทางที่รวดเร็วที่สุดและทำให้ไปถึงเป้าหมายในการสร้างประชาธิปไตยได้จริงมากที่สุด โดยคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ แล้ว 2 ชุด คือ 1.คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติ และ 2. คณะอนุกรรมการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ ได้มีการดำเนินการต่อเนื่องและมีความคืบหน้าต่อเนื่อง และในวันนี้(25 ต.ค.) คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 2 ชุดจะมีการประชุมกัน โดยมีวาะสำคัญในการพิจารณากำหนดกรอบในการทำประชามติและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้ครอบคลุมที่สุด
โดยคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติ จะมีการประชุมในเวลา 10.00 น. เพื่อหารือกันเกี่ยวกับกรอบการจัดการจัดทำประชามติ 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ศึกษาจำนวนครั้งในการจัดการออกเสียงประชามติ โดยอ้างอิงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และ 2.ศึกษากรอบระยะเวลาดำเนินการของรัฐบาลทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มทำประชามติครั้งแรก ไปจนถึงการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง และ พ.ร.ป. เลือกตั้ง เพื่อให้เมื่อได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว สามารถบังคับใช้ได้จริงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
สำหรับคณะอนุกรรมการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ จะมีการประชุมในเวลา 13.00 น. เพื่อกำหนดกรอบและแนวทางสำคัญๆ ในการรับฟังความคิดเห็นประชาชนกลุ่มต่างๆ ให้มากที่สุด โดยจะมีการหารือแนวทางและสรุปกรอบการรับฟังเสียงพี่น้องประชาชนกลุ่มต่างๆ ว่าจะมีการพูดคุยกับกลุ่มไหนบ้างและอย่างไร โดยอาจมีการกำหนดเวลาว่าแต่ละกลุ่มจะไปพูดคุยในช่วงไหน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่จะให้จบภายในสิ้นปี 2566 ซึ่งเบื้องต้น จำแนกกลุ่มต่างๆ ได้เป็น 3 กลุ่ม
“กลุ่มแรกคือกลุ่มสมาชิกรัฐสภา ทั้ง สส. ส.ว. และคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ โดยคาดว่าจะมีการเสนอส่งหนังสือถึงหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อให้มีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างอนุกรรมการฯ กับพรรคก้าวไกล เนื่องจากพรรคก้าวไกล ได้ตัดสินใจไม่เข้าร่วมในคณะกรรมการประชามติ เราจึงเปิดแนวทางนี้ไว้เพื่อให้ได้ความคิดเห็นของพรรคก้าวไกลมาประกอบกับความคิดเห็นประชาชนกลุ่มต่างๆ ด้วย ต่อมาคือ กลุ่มนักศึกษา จะมีการกำหนดกรอบการพูดคุยว่าจะไปพูดคุยกับกลุ่มไหนและอย่างไร โดยจะมีการมอบหมายการประสานงานอย่างชัดเจน และกลุ่มของพี่น้องประชาชนทั่วไป จะประกอบไปด้วยภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ รวมไปถึงกลุ่ม iLaw (ไอลอว์) กลุ่มผู้สื่อข่าวและตัวแทนภาคธุรกิจ เป็นต้น” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าว.-สำนักข่าวไทย