ทำเนียบรัฐบาล 2 พ.ค.-รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบรายงานความก้าวหน้ายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปี 66 ตั้งเพิ่ม 6 แห่ง กระจายการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพทุกภูมิภาค
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.มีมติรับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดยครม. มีมติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 เห็นชอบในหลักการพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (จ.ภ.) ประจำเขตตรวจราชการ จำนวน 6 แห่ง และให้ปรับปรุงแก้ไขจังหวัดเขตพื้นที่บริการโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับจำนวนโรงเรียนและบริบทเชิงพื้นที่ ภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม ระบบราชการ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปีงบฯ 2565 – 2569)
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการเสนอรายงานความก้าวหน้าว่าได้ดำเนินการตามมติ ครม. ดังกล่าว โดยจัดทำแนวทางการพัฒนาจัดตั้ง จ.ภ. 6 แห่ง โดยกำหนดพื้นที่จังหวัดสำหรับการจัดตั้ง จ.ภ. ในพื้นที่เขตตรวจราชการ 6 เขตตรวจฯ ที่ยังไม่มี จ.ภ. ตั้งอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับพื้นที่เขตตรวจราชการที่กำหนดไว้ และได้ปรับปรุงเขตพื้นที่บริการของ จ.ภ. จากเดิมที่มีพื้นที่รับนักเรียนจำนวน 7-8 จังหวัดต่อ 1 โรงเรียนให้เป็นจำนวน 4-5 จังหวัดต่อ 1 โรงเรียนเพื่อให้การเข้าถึงโอกาสของนักเรียนในจังหวัดต่าง ๆ มีการกระจายอย่างทั่วถึง
“เดิมโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยมีจำนวน 12 แห่ง และได้กำหนดเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง ในจังหวัดสุพรรณบุรี กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี และลำปาง แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและกระจายการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทยให้ครอคลุมมากยิ่งขึ้นจึงได้มีการเพิ่มจัดสรรใหม่อีก 2 แห่ง คือ ในจังหวัดสระแก้ว และ กำแพงเพชร ทำให้จะมีโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 18 แห่งทั่วประเทศไทย โดยในงบประมาณปี 2566 กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศ ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เรื่อง ตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ลำปาง สระแก้ว สุพรรณบุรี และอุบลราชธานี ให้เป็นสถานศึกษาที่มีการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลที่มีความสามารถพิเศษในสังกัด สพฐ. ตั้งแต่ชั้น ม. 1-6 รับนักเรียนประเภทประจำโดยมีเขตพื้นที่บริการตามที่ สพฐ. กำหนด” น.ส.ทิพานัน กล่าว.-สำนักข่าวไทย