กทม.26 เม.ย.- “สุชัชวีร์” ควง “ศิริภา” ขอคะแนนชาวฝั่งธนฯ ตรวจพื้นที่อันตราย รับฟังปัญหา พร้อมเดินสายใช้เครื่องวัดฝุ่น PM 2.5 พบยังเกินค่ามาตรฐาน ชูนโยบาย Wrap ตึกก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นคุณภาพสูง 2,000 จุดทั่วกรุง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการลงพื้นที่หาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ เช้าวันนี้ (26 เม.ย.) ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. ของพรรค ลงพื้นที่ตลาดสำเหร่ เขตธนบุรี ขอคะแนนเสียงสนับสนุนให้กับ น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้สัมคร ส.ส.กทม. เบอร์ 11 เขตธนบุรี คลองสาน ราษฎร์บูรณะ พรรคประชาธิปัตย์
บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีการพบปะมีพี่น้องประชาชนที่มาจ่ายตลาดยามเช้า นำเสนอนโยบายของพรรคและรับฟังการสะท้อนปัญหาจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อรวบรวมและผลักดันให้มีการแก้ไข โดยมีการสะท้อนถึงปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ปัญหาค่าครองชีพปากท้อง ที่สำคัญคือ ปัญหาสุขภาพ จากฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน กระทบต่อวิถีชีวิตคนในชุมชน เนื่องจากคนในพื้นที่จำนวนไม่น้อยเป็นผู้สูงอายุ
น.ส.ศิริภา ยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้าให้มีกฎหมายเข้ามาควบคุมมลพิษอย่างจริงจัง ภายใต้กฎหมายที่มีชื่อว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ โดย ดร.สุชัชวีร์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. ได้ดำเนินการศึกษาเรื่องนี้ เพื่อกำหนดมาตรฐานมลพิษทางอากาศอย่างเป็นธรรมต่อสุขภาพประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน 16 เขต รวมถึงเขตธนบุรี คลองสาน ที่มีสถานศึกษามากกว่า 300 แห่ง และสถานพยาบาลมากกว่า 40 แห่ง และได้รับผลกระทบจากฝุ่นอย่างรุนแรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.สุชัชวีร์ ได้นำเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ที่ได้มาตรฐานไปตรวจวัดในจุดที่ประชาชนเรียกร้องว่าได้รับผลกระทบอย่างมาก บริเวณถนนเจริญนคร 23 ด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัย มีโรงเรียนอนุบาล และเป็นพื้นที่ที่มีการก่อสร้างกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ทั้งนี้ จากการตรวจวัดในระดับพื้นที่พบ ค่าฝุ่น PM 2.5 ถึง 65 มคก./ลบ.ม. ถือว่าเกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดค่า PM 2.5 ไม่ควรเกิน 25 มคก./ลบ.ม.
ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นคุณภาพสูงอย่างน้อย 2,000 จุดทั่วกรุงเทพฯ และขอความร่วมมือป้าย LED แจ้งปริมาณฝุ่น พร้อมส่งสัญญาณเตือนเมื่อเกินค่ามาตรฐาน ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขปัญหา นอกจากนี้จะกำหนดเงื่อนไขในกฎหมายอากาศสะอาด ให้ตึกที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างต้อง Wrap ตึก และสามารถเคลมเป็นภาษีได้ ถ้าไม่ Wrap ต้องมีมาตรการเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างหรือโดนภาษีหนัก และในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในที่มีทั้งโรงเรียน โรงพยาบาลมากมาย ควรเป็นเขต LEZ (Low Emission Zone) เช่น ถ้ารถสิบล้อเข้าเขตนี้ต้องเสียภาษีเพิ่ม รถควันดำห้ามเข้า เป็นต้น
ด้าน น.ส.ศิริภา กล่าวว่า พื้นที่ซอยเจริญนคร 23 นอกจากได้รับเรื่องร้องเรียนผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 แล้ว ยังเป็น 1 ใน 10 พื้นที่อันตรายของ กทม. ด้วย เนื่องจากเป็นซอยเปลี่ยว กลางคืนมืดอันตราย จนชาวบ้านในพื้นที่ต้องรวมกลุ่มกันแก้ปัญหา ติดตั้งไฟฟ้ากันเอง จึงรับฟังปัญหาเพื่อมาผลักดันเป็นนโยบาย เพิ่มกล้องวงจรปิดมาช่วยสอดส่องดูแล และใช้นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ ระบบแจ้งเตือนไปยังสถานีตำรวจ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินด้วย ควบคู่กับการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลพัฒนาพื้นที่ให้มีความปลอดภัย เฝ้าระวังปัญหายาเสพติด เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่ได้.-สำนักข่าวไทย