กรุงเทพฯ 16 เม.ย. – ซูเปอร์โพล เผยคนส่วนใหญ่ร้อยละ 70.5 บอกไปเลือกตั้ง ส.ส. ขณะที่ร้อยละ 29.5 จะไม่ไปเลือกตั้ง คาด “เพื่อไทย” คว้า ส.ส. เขตแลนสไลด์ในภาคอีสาน 78 คน และภาคเหนือ 24 คน “ภท.” คาดได้ ส.ส.เขตมาอันดับสอง 101 คน มากสุดภาคตะวันตก 10 ที่นั่ง แถมเจาะไข่แดง กทม. สำเร็จ 8 ที่นั่ง ปชป. ได้ภาคใต้ 28 ที่นั่ง ส่วน พปชร. คาดได้ 53 คน ด้านรทสช. คาดได้ ส.ส.เขต 35 คน กทม.ได้ 1 คน-ภาคใต้ 9 คน
เมื่อวันที่ 16 เม.ย.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลการศึกษาต่อเนื่อง เรื่อง “โพล เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 4 : ข้อมูลพื้นฐานการปกครองท้องที่ (ภูมิภาค)” กรณีศึกษาประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 400 เขตเลือกตั้งและผลการประมาณการจำนวน 100 ที่นั่งผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส. ในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 53,094,778 คนทั่วประเทศรวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง ดำเนินโครงการศึกษาจำนวนตัวอย่าง 6,990 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5 – 15 เมษายน พ.ศ.2566 โดยเมื่อพิจารณาความตั้งใจจะไปเลือกตั้งของประชาชนพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 หรือประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 37,431,819 คน จะไปเลือกตั้ง ในขณะที่ร้อยละ 29.5 หรือ ประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 15,662,959 คน จะไม่ไปเลือกตั้ง
ที่น่าสนใจคือ ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งจำนวน 400 ที่นั่ง จำแนกตามข้อมูลพื้นฐานการปกครองท้องที่ที่เป็นกลุ่มจังหวัดในแต่ละภูมิภาค พบอย่างชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยมีความเป็นไปได้ที่จะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งแบบแลนสไลด์ในภาคอีสานและภาคเหนือ โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะได้ 133 ที่นั่งหรือร้อยละ 33.3 ของจำนวนทั้งหมดทั่วประเทศ พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.เขตจำนวน 24 ที่นั่งหรือร้อยละ 64.9 ของจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดในภาคเหนือและในอีสาน พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 78 ที่นั่ง หรือร้อยละ 58.6 ของจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดในภาคอีสาน แต่พบว่าพรรคเพื่อไทยอาจจะไม่ได้ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเลยในภาคใต้ในการศึกษาครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาพบว่า พรรคเพื่อไทย ได้ 8 ที่นั่งหรือร้อยละ 24.2 ในกรุงเทพมหานคร ได้ 18 ที่นั่งหรือร้อยละ 20.2 ในภาคกลาง พรรคเพื่อไทยยังได้ 4 ที่นั่งหรือร้อยละ 13.8 ในตะวันออก และ 1 ที่นั่งหรือร้อยละ 5.0 ในภาคตะวันตก ที่น่าพิจารณาคือ พรรคภูมิใจไทย ที่ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งมาเป็นอันดับสอง คือ 101 ที่นั่งทั่วประเทศหรือร้อยละ 25.3 ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งทั้งหมด โดยภาพของจำนวนที่นั่ง ส.ส. กระจายไปในทุกกลุ่มจังหวัดของแต่ละภาค โดย พรรคภูมิใจไทย ได้ ส.ส.เขตเลือกตั้ง มากที่สุด ในภาคตะวันตก จำนวน 10 ที่นั่งหรือร้อยละ 50 ส่วนที่เหลือกระจายแทรกเข้าไปแต่ละภูมิภาคจำนวนมาก ได้แก่ ภาคเหนือ จำนวน 5 ที่นั่งหรือร้อยละ 13.5 กรุงเทพมหานคร จำนวน 8 ที่นั่ง หรือ ร้อยละ 24.2 อีสานจำนวน 36 ที่นั่งหรือร้อยละ 27.1 กลางจำนวน 26 ที่นั่ง หรือร้อยละ 29.2 ภาคตะวันออก จำนวน 6 ที่นั่งหรือร้อยละ 20.7 และภาคใต้จำนวน 10 ที่นั่งหรือร้อยละ 16.9 ในการศึกษาครั้งนี้
ในขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ กลับขึ้นมาเป็นอันดับสามจำนวน ส.ส.เขต 53 ที่นั่งหรือร้อยละ 13.3 ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ โดยกระจายไปแต่ละกลุ่มจังหวัดของภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือจำนวน 6 ที่นั่งหรือร้อยละ 16.2 กรุงเทพมหานคร จำนวน 2 ที่นั่งหรือร้อยละ 6.1 อีสาน จำนวน 10 ที่นั่งหรือร้อยละ 7.5 ภาคกลางจำนวน 17 ที่นั่งหรือร้อยละ 19.1 ตะวันออกจำนวน 8 ที่นั่งหรือร้อยละ 27.6 ตะวันตกจำนวน 3 ที่นั่งหรือร้อยละ 15.0 และภาคใต้ จำนวน 7 ที่นั่งหรือร้อยละ 11.9
ผลการศึกษาพบด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ ตามมาอันดับที่สี่จำนวน ส.ส.เขต 44 ที่นั่งหรือร้อยละ 11.0 ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.เขตเลือกตั้ง จำนวน 1 ที่นั่งหรือร้อยละ 2.7 ในภาคเหนือ ได้ 3 ที่นั่งหรือร้อยละ 9.1 ในกรุงเทพมหานคร ได้ 2 ที่นั่งหรือร้อยละ 1.5 ในอีสาน ได้ 1 ที่นั่งหรือร้อยละ 1.1 ในภาคกลาง ได้ 7 ที่นั่งหรือร้อยละ 24.1 ในภาคตะวันออก ได้ 2 ที่นั่งหรือร้อยละ 10.0 ในภาคตะวันตก และ ได้ 28 ที่นั่งหรือร้อยละ 47.5 ในภาคใต้ที่อาจกล่าวได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ แลนด์สไลด์ในภาคใต้แบบยกจังหวัดก็เป็นไปได้ในการศึกษาครั้งนี้
นอกจากนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อันดับห้าจำนวน ส.ส.เขต 35 ที่นั่งหรือร้อยละ 8.8 ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ โดยพรรครวมไทยสร้างชาติมีความเป็นไปได้จะได้ ส.ส.เขตเลือกตั้งจำนวน 1 ที่นั่งหรือร้อยละ 2.7 ในภาคเหนือ และได้ 6 ที่นั่งหรือร้อยละ 18.2 ในกรุงเทพมหานคร ได้ 1 ที่นั่งหรือร้อยละ 0.8 ในอีสาน ได้ 13 ที่นั่งหรือร้อยละ 14.6 ในภาคกลาง ได้ 2 ที่นั่งหรือร้อยละ 6.9 ในภาคตะวันออก ได้ 3 ที่นั่งหรือร้อยละ 15.0 ในภาคตะวันตกและได้ 9 ที่นั่งหรือร้อยละ 15.3 ในภาคใต้
ในขณะที่ พรรคก้าวไกล ได้อันดับที่หก จำนวน ส.ส.เขต 10 ที่นั่งหรือร้อยละ 2.5 ของจำนวนที่นั่ง ส.ส.เขตเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศโดยในการศึกษาครั้งนี้พบว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้ ส.ส.เขตเลยในภาคเหนือ ได้ 1 ที่นั่งหรือร้อยละ 3.0 ในกรุงเทพมหานคร ได้ 2 ที่นั่งหรือร้อยละ 1.5 ในอีสาน ได้ 5 ที่นั่งหรือร้อยละ 5.6 ในภาคกลาง ได้ 2 ที่นั่งหรือร้อยละ 6.9 ในภาคตะวันออก ในขณะที่ไม่พบเลยในภาคตะวันตกและภาคใต้.-สำนักข่าวไทย