ทำเนียบฯ 11 เม.ย.-“จุรินทร์” ย้ำ จุดยืนยังไม่จับมือกับพรรคใดตั้งรัฐบาล ขอหลังเลือกตั้ง ให้ประชาชนตัดสินก่อน ไม่ขอวิจารณ์นโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของเพื่อไทยแต่เห็นว่า ต้องไม่สุ่มเสี่ยง พาประเทศไปตายเอาดาบหน้า มั่นใจพลังเงียบกลับมาช่วยเหลือพรรค
นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังมีพลังเงียบ พลังประชาธิปปัตย์ อีกจำนวนมาก ที่จะกลับมาช่วยเหลือพรรค ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ซึ่งจากการลงพื้นที่ล่าสุดที่จังหวัดนครสวรรค์ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีคนหลายหมื่นมาร่วมฟังปราศรัยและสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์อยู่ ทำให้เห็นว่าพลังเหล่านี้ คือเสียงตอบรับที่ดีขึ้น เห็นภาพเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ส่วนการจับขั้วหลังการเลือกตั้งที่อาจจะไม่ใช่ขั้วเดิมนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ขอให้ประชาชนได้ตัดสินใจเลือกตั้ง ซึ่งตนเองยืนยันมาโดยตลอดและจะยึดหลักการนี้ จับขั้วไหนหรือจับมือกับใครจะต้องอยู่หลังการเลือกตั้งทั้งหมด ใครที่จับมือกันก่อน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปตามนั้น ถ้าจับขั้วแล้วจัดตั้งรัฐบาลได้เลย ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีการเลือกตั้ง ดังนั้นจะเกิดประชาธิปไตยได้อย่างไร
“ตามระบอบประชาธิปไตย จะต้องเริ่มต้นด้วยการเลือกตั้งก่อน และประชาชนจะเป็นคนแรกที่จะให้คำตอบว่า พรรคไหนจะได้เป็นรัฐบาล และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลได้ ประชาชนจะเป็นคำตอบคนแรก ส่วนพรรคใดที่จับมือกันก่อน ก็เป็นเรื่องของแต่ละพรรค แต่พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่าต้องเคารพเสียงประชาชนก่อน ยืนยันหลักคิดไม่เคยเปลี่ยน มีนโยบายจุดยืนอุดมการที่ชัดเจน จึงขอให้ประชาชนไว้วางใจพรรคประชาธิปัตย์ได้ ที่สำคัญจะไม่พาประเทศหลงทาง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงินเศรษฐกิจสังคม” นายจุรินทร์ กล่าว
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ออกมาระบุว่า จะไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล นายจุรินทร์ ยืนยัน ไม่ก้าวก่ายแต่ละพรรค พรรคมีจุดยืนที่ชัดเจนและ ไม่เคยวอกแวก พร้อมย้ำว่าต้องให้ประชาชนตัดสินใจก่อน นายจุรินทร์ ย้ำว่า พรรคมีนโยบายบนพื้นฐานความรับผิดชอบ และแจกแจงที่มารายได้และการใช้เงิน ดังนั้นจะทำให้ประเทศไปข้างหน้าได้แน่นอน ดังนั้นจึงไม่ขอวิจารณ์ นโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ของพรรคเพื่อไทย แต่มองว่า นโยบายของพรรคการเมือง จะต้องไม่พาประเทศไปตายเอาดาบหน้า ทุกอย่างต้องมีความชัดเจน ที่มาที่ไปของรายได้ รวมถึงไม่เป็นนโยบายรายวัน ซึ่งจะทำให้ ในอนาคตประเทศเกิดความสุ่มเสี่ยง หรือพาประเทศไปตายเอาดาบหน้าหรือไม่ ดังนั้นจึงคิดว่า ไม่ควรจะให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบายขึ้นมาอีกครั้ง เพราะจะถือเป็นการทำลายประเทศ ทำลายประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งจะต้องเป็นสิ่งที่ต้องตระหนัก ต้องรู้เท่าทันรวมถึงเอาประวัติศาสตร์มาเป็นบทเรียน.-สำนักข่าวไทย