ชลบุรี 19 มี.ค.- ‘ชลน่าน’ ไม่สน ‘ประยุทธ์’ ยุบสภาวันไหน เผย ‘เพื่อไทย’ วางปฏิทินลุยเลือกตั้งแล้ว กางวันเคาะโผ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 เม.ย.ก่อนวันสมัคร 4 เม.ย.นี้ ชี้เป็นสีสัน ‘ก้าวไกล’ ปราศรัยพาดพิง ‘เพื่อไทย’ อาจจับมือ ‘ประวิตร’
วันที่ 19 มี.ค. 2566 ที่จ.ชลบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม อาจจะประชุม ครม.นัดสุดท้ายในวันที่ 21 มี.ค.นี้แล้วประกาศยุบสภาฯ ว่า เรื่องยุบสภาฯ นั้นตนไม่ได้ใส่ใจแล้ว เพราะถ้าจะยุบสภาฯ วันสุดท้ายคือ 22 มี.ค. 2566 ทางพรรคเพื่อไทยต้องเตรียมการไทม์ไลน์ในการปฏิบัติการเลือกตั้ง โดยใช้วันที่ 20 มี.ค.เป็นเกณฑ์ในการปฏฺิบัติงานการเลือกตั้ง โดยคาดว่าจะเปิดรับสมัครวันเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 3-7 เม.ย.นี้ คือการรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 4-7 เม.ย. และมีข่าว ครม.ประชุมนัดสุดท้ายในวันที่ 21 มี.ค. ทำให้มีคนคาดการณ์ว่าช่วงบ่ายวันเดียวกันนั้นอาจมีประกาศยุบสภาฯ ลงราชกิจจานุเบกษา ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยประกาศจะไม่ยุบสภาในวันเกิดตัวเองก็แล้วแต่จะคิด เพราะตนไม่ได้ใส่ใจแล้ว แต่ต้องคาดการณ์ว่า นายกฯ ยุบสภาฯ เร็วที่สุดคือ 20 มี.ค.นี้
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ส่วนการเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คนนั้น ขั้นตอนการเปิดตัวผู้ลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะมีข้อกฎหมายต้องทำไพรมารีโหวตในพื้นที่เลือกตั้ง โดยแต่ละจังหวัดจะทำไพรมารีได้ 1 จุดก็สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส.ได้ และขณะเดียวกัน แบบบัญชีรายชื่อ ทางคณะกรรมการสรรหาต้องส่งรายชื่อไม่เกิน 100 คนไปทำไพรมารีโหวตด้วย โดยพรรคเพื่อไทยมีแนวทางจะกำหนดไพรมารีโหวตในวันที่ 26-28 มี.ค.ให้จบใน 3 วันนี้ โดยพรรคจะส่งทำไพรมารีโหวต 100 รายชื่อตามลำดับตัวอักษร ให้พื้นที่ทำไพรมารีโหวต
เมื่อถามว่า 100 ชื่อส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะเรียงลำดับ 1-5 เสร็จเมื่อไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า คณะกรรมการสรรหาเมื่อรับผลโหวตไพรมารีแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการจัดลำดับผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยเห็นชอบ ถ้ากรณีรับสมัครวันที่ 4 เม.ย. พรรคเพื่อไทยต้องจัดทำผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้เสร็จก่อน โดยพรรคจะประชุมกรรมการบริหารพรรคไม่เกิน วันที่ 1 เม.ย.นี้
ส่วนผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยจะต้องส่งลง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ นั้นพรรคเพื่อไทยจะเสนอ 3 รายชื่อ โดยกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็น ส.ส. ดังนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละพรรคการเมือง ถ้าอยู่ใน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อก็ต้องส่งไปรับฟังความเห็นก่อนสมัคร หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ถูกเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในวันที่วันที่ 5 เม.ย.นี้โดยประชุมร่วมกันกับกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยและตัวแทนประจำจังหวัด ตัวแทนสาขาพรรคการเมืองตัดสินในวันนั้นให้ความเห็นชอบด้วย
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องพิจารณาเรื่องแคนดิเดตนายกฯ ลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เพราะพรรคเพื่อไทยเคยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก ส.ส.ด้วย
เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยที่เป็นข่าวในขณะนี้ก็อาจจะลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อด้วย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ความเห็นส่วนตัวของตน เพราะพรรคยังไม่ได้ประชุมเรื่องนี้ และต้องถามผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ และลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถูกเสนอชื่อก่อนด้วย
ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)และจะลง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อนั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตนไม่คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รทสช.น่าจะแยกกันระหว่างผู้ถูกเสนอชื่อนายกฯ และบัญชีรายชื่อ ตนอยากจะบอก พล.อ.ประยุทธ์ ให้รู้ว่าถ้าจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องให้ความสำคัญกับรัฐสภาด้วย และคนเป็นผู้แทนจะรู้เห็นว่ารัฐสภามีความสำคัญอย่างไร
นพ.ชลน่าน ระบุถึงกรณี นายเอกภพ เหลืองประเสิรฐ เป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตสายไหม พรรคภูมิใจไทย เคยเสนอตัวลงสมัคร กับพรรคเพื่อไทยว่า คณะกรรมการโซนกทม.ได้พิจารณาถี่ถ้วนแล้วไม่มีความเชื่อมั่นว่านายเอกภพ จะมาพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เพราะคณะกรรมการมีข้อมูลเรื่องความสัมพันธ์กับส่วนตัวกับอดีต ส.ส.ที่ย้ายไปแล้ว และมีเรื่องคุณสมบัติที่ทางฝ่ายตรวจสอบของภาค กทม. ดูแล้วอาจสุ่มเสี่ยงในเรื่องที่จะรับเข้ามา ทำให้ถูกปฏิเสธลงเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทย
นพ.ชลน่าน ระบุถึงกรณีพรรคก้าวไกลปราศรัยพาดพิงมาทางมีพรรคบางพรรคส่งสัญญาณจับมือ พล.อ.ประวติร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่า เป็นสีสันทางการเมือง ตนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เวทีปราศรัยเป็นการรณรงค์หาเสียงกับประชาชน อะไรที่ยกให้ตัวเองเด่นได้กดคู่แข่งทางการเมืองได้ ในเวทีปราศรัยมักจะใช้อย่างแพร่หลาย ยกเว้นบางคนเห็นว่าวิธีการเหล่านี้ไม่ควรนำมาใช้ ถ้าพูดข้อด้อยคู่แข่งไม่ควรเลือกเพราะอะไรก็ยังพอรับกันได้ ตนไม่ได้ติดใจประเด็นนี้ จะพิสูจน์ใครเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย อยู่ที่การกระทำและการยอมรับของประชาชน .-สำนักข่าวไทย