ศาลปกครอง 14 มี.ค. -กลุ่มเครือข่ายเยาวชนฯ ยื่นข้อมูลเพิ่มศาลปกครอง เพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุขปลดล็อคยาเสพติด ยื่นข้อมูลศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีฯ พบผู้ป่วยกัญชามากขึ้น ส่วนใหญ่เสพเพื่อสันทนาการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายยศกร ขุนภักดี ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายเยาวชนไม่นะกัญชาและยาเสพติด (YNAC) เดินทางไปยื่นข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งเป็นรายงานผู้เจ็บป่วยจากการสัมผัสกัญชา ของศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี และรายงานผู้ป่วยเด็กที่มีอาการป่วยจากัญชา ของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเป็นหลักฐานประกอบเพิ่มเติมในคดีที่ ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ กรรมการแพทยสภา และนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน จากพรรคประชาชาติ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย และพรรคพลังปวงชนชาวไทย เดินทางมามายื่นฟ้องนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 ก.พ.2565 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีการออกประกาศฉบับดังกล่าว และให้กัญชาจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 ธ.ค.2563 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 พ.ศ. 2563
นายยศกร กล่าวว่า เนื่องจากเห็นว่า การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ป.ป.ส. ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 เป็นผลให้กัญชา ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป เป็นการกระทําที่ไม่สุจริตและเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ และรัฐบาลไม่สามารถควบคุมป้องกันการใช้กัญชาในกลุ่มเด็กและเยาวชนได้ จนกลายเป็นการเปิดการใช้กัญชาอย่างเสรีในหลายชุมชน สร้างปัญหาระยะยาวของสังคมไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกสารที่กลุ่มดังกล่าวอ้างถึง ซึ่งเป็นข้อมูลของศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีฯ ระบุว่านับจากการปลดล็อคกัญชาในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 มีกรณีการป่วยจากการได้รับกัญชาและปรึกษามายังศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีเพิ่มขึ้น โดยในช่วงระยะเวลา มิถุนาถึงสิงหาคม 2565 มีจำนวนผู้ป่วยจากการสัมผัสกัญชาทั้งสิ้น 212 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ ได้รับกัญชาเพียงสารเดียว 161 คน มีผู้ป่วยได้รับสารอื่นร่วม 51 คน สารที่พบรวมด้วยบ่อย ได้แก่กระท่อม 19 คน สุรา 13 คน และสารในกลุ่มแอมเฟตามีน 8 คน
ทั้งนี้ผู้ป่วย 75 คน เป็นผู้ไม่เคยใช้หรือได้รับกัญชามาก่อน นอกจากนี้พบว่าการได้รับกัญชาของผู้ป่วยกลุ่มนี้ 113 คน ได้รับโดยการสูบ 99 คน ได้รับโดยการกิน ซึ่งมีรูปแบบต่างๆ คือ น้ำมันกัญชา อาหารคาวใส่กัญชา เครื่องดื่มใส่กัญชา บราวนี่กัญชา คุกกี้กัญชา โดยพบวัตถุประสงค์การใช้ 87 คน จงใจเสพเพื่อนันทนาการ 56 คน อยากทดลองใช้ว่าจะมีผลอย่างไร 16 คน ใช้โดยเชื่อว่าจะบรรเทาอาการโรคหรือส่งเสริมสุขภาพ และ 40 คน ไม่ระบุวัตถุประสงค์ นอกจากนี้ยังพบอาการ ในระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท และอาการอื่นๆ. สำนักข่าวไทย