กรุงเทพฯ 28 ก.พ.-“ไตรรงค์” ไล่เชิญไปฟ้อง มั่นใจไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ย้ำพูดถึงพระราชดำรัสดีๆ ไม่คิดโหนสถาบัน จี้ กกต.ตอบให้ชัด หลังมีกฤษฏีกาเลือกตั้ง ปราศรัยได้แค่ไหน ย้อนถาม ดึง ม.112 เอี่ยวหาเสียงผิดหรือไม่
นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ประธานที่ปรึกษาพรรครวมไทยสร้างชาติ และที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อขอให้ไต่สวนและวินิจฉัย กรณีที่ขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงจ.นครราชสีมา โดยนำสถาบันมาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้งว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ ว่า ตนไม่กังวล เพราะเป็นการกล่าวถึงสิ่งดี ๆ ของสถาบันพระมหากษัตริน์ในอดีต โดยเฉพาะรัชกาลที่ 9 เป็นการนำกระแสพระราชดำรัสของพระองค์มาพูดให้ประชาชนฟัง ไม่ได้มีจิตอกุศลหรือต้องการโหนสถาบันแต่อย่างใด
“ผมเอาคำพูดที่เป็นสิ่งดีดีของในหลวงที่ผ่านมาแล้ว มาพูดเพื่อเตือนสติให้ประชาชน แล้วจะเอาผมไปใส่คุกผมก็ยินดีคุณจะทำอะไรกับผมก็ได้ ผมตั้งใจที่จะทำดีให้กับประเทศชาติ แต่ถ้าไม่ให้ทำก็บอกมา แต่ใช่ว่าผมจะยอมนะ จะขอทำสงครามต่อ”นายไตรรงค์ กล่าว
นายไตรรงค์ กล่าวต่อว่า ตนไม่สนใจว่าสิ่งที่พูดไปแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกมา เชิญไปฟ้องได้เลย แต่ตนสนใจว่าหลังจากนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาแล้ว เราต้องระวังกฎเกณฑ์ต่างๆ ดังนั้น ตนต้องการให้ กกต.บอกมาระบุให้ชัดเจนว่าหลังจากยุบสภาและมีะระราชกฤษฏีกาเลือกตั้งแล้ว นักการเมืองขึ้นไปปราศรัยบนเวทีสามารถพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์มีขอบเขตแค่ไหน หรือห้ามพูดเลยตั้งแต่คำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยรามคำแหงมหาราช จนถึงรัชกาลที่ 10 เพราะการเมืองในประเทศอังกฤษก็มีข้อห้ามไม่ให้นักการเมืองกล่าวอ้างถึงสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน แต่สามารถพูดถึงในอดีตได้ ซึ่งเมื่อเราเขียนรัฐธรรมนูญโดยใช้อังกฤษเป็นแม่แบบก็ควรจะกระทำได้เช่นกัน
ทั้งนี้ขอยืนยันว่าสิ่งที่กล่าวนั้นไม่ผิดกฎหมาย และตนเคยพูดบนเวทีปราศรัยที่ชุมพรมาแล้วก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเพียง 2 วันด้วยซ้ำ ไม่เห็นมีปัญหาอะไร นายไตรรงค์ ยังเรียกร้องให้กกต.ตรวจสอบกรณีที่พรรคการเมืองบางพรรคประกาศเป็นนโยบายหาเสียงจะยกเลิกมาตรา 112 ว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะหมายถึงสถาบันกษัตริย์องค์ปัจจุบันอย่างชัดเจน มีการอนุญาตให้ขึ้นป้ายหาเสียงได้อย่างไร เพราะเท่ากับด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์.สำนักข่าวไทย