รัฐสภา 28 ก.พ.- พ.ร.ก. ขยายเวลา พ.ร.บ. อุ้มหายค้างท่อ หลังวิปรัฐบาลยื่นศาล รธน. ตีความ ขณะผู้นำฝ่ายค้าน ชี้ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่น่าอับอาย เพราะรัฐบาลเล่นเกมยื้อ ด้าน “ชวน” อวยพรขอให้ ส.ส. ประสบความสำเร็จ แม้จะไม่ได้กลับมาทุกคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษวันนี้ (28 ก.พ.) วันสุดท้าย ก่อนปิดสมัยการประชุมสามัญ โดยเมื่อเวลา 13.20 น.นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขึ้นทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม และแจ้งต่อที่ประชุมว่า ในระหว่างที่เราอภิปรายอยู่นั้น สมาชิกส่วนหนึ่งได้เสนอเรื่องขึ้นมา โดยนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ และประธานวิปรัฐบาลและคณะได้เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาว่าพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายพ.ศ 2565 พ.ศ 2566 ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรค 1 ให้ประธานส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน นับแต่วันที่รับความเห็นเพื่อวินิจฉัยและให้รอการพิจารณาไว้ก่อนตามมาตรา 173 จนกว่าจะได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ได้ใช้เวลาตรวจสอบรายชื่อคำร้องทั้งหมดแล้ว ปรากฏว่า มีจำนวนสมาชิกลงลายมือชื่อ 100 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ดังนั้นเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ จึงให้รอการพิจารณาพระราชกำหนดนี้ไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงขอจบการพิจารณาในวาระนี้เพียงเท่านี้
ด้านนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเอกสารให้ตนเซ็นชื่อ ดังนั้น ถ้ามีรายชื่อตนที่เกี่ยวข้องกับการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ ตนขอไม่รับรู้ และไม่ถือว่า เป็นลายเซ็นของตน
ขณะที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นขออภิปรายในเนื้อหาที่ตนเองเตรียมไว้ว่า ตนไม่ได้ว่าอะไรในเรื่องของระบบฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ถ้าตนไม่พูด ประเทศชาติจะล่มจมและเสียหายได้ โดยเฉพาะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ตนขอฝากผบ.ตร.ว่า ให้ติดตามพลตำรวจโท จ. มีเกี่ยวข้องกับการซื้อวิทยุสื่อสารประมาณ 4,000 กว่าล้านบาททั่วประเทศ
จากนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า รู้สึกเสียใจที่การพิจารณากฎหมายไม่แล้วเสร็จ ไม่สามารถลงมติได้ ทั้งที่มีแนวโน้มจะไม่อนุมัติกฎหมายฉบับนี้ เพราะฟังจากสมาชิกในสภาส่วนใหญ่คัดค้านและไม่เห็นด้วย จึงตั้งข้อสังเกตเรื่องการยื่นศาลรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ว่า รัฐบาลคาดการณ์ว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้จะถูกสภาคว่ำ จึงใช้กระบวนการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยื้อเวลา ต้องบันทึกประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ชงโดย ครม. กินโดย ครม.และ อุ้มหายโดยครม.เอง ถือเป็นเรื่องที่น่าอับอาย เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นที่ผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญควรจะเป็นเสียงที่ไม่อนุมัติ แต่การยื่นครั้งนี้แปลเป็นเจตนาอื่นไม่ได้ นอกจากการใช้กลไกของศาลรัฐธรรมนูญยื้อเวลา เพราะศาลฯต้องใช้เวลาในการวินิจฉัยอย่างน้อยเวลา 60 วัน ทำทำให้ พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรืออาจยื้อไปถึงรัฐบาลหน้า พร้อมกันนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะมีปัญหาในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างไม่ทันตามที่นายจิรายุห่วงทรัพย์ ส.ส. พรรคเพื่อไทยออกมาแฉ ไม่ใช่การหาอุปกรณ์ไม่ทันตามที่กล่าวอ้าง
นพ.ชลน่าน ระบุอีกว่า หากมีปัญหาเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิประชาชน บุคคลที่เข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ จะต้องรับผิดชอบ และขอให้ประชาชนตัดสินในคูหาเลือกตั้ง

ขณะที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ขออภิปรายว่า ผู้นำฝ่ายค้านได้พูดว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเพื่อนสมาชิกในสภาแห่งนี้โดยเฉพาะที่ได้อ้างอิงถึงสมาชิกของพรรคร่วมรัฐบาลที่ได้ร่วมกระบวนการอุ้มหาย พ ร.ก.นั้น ตนคิดว่า ถ้าไม่ได้รับฟังเหตุผลอีกฝ่ายหนึ่งก็จะไม่เป็นหลักที่เรียกว่าตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ และไม่ตรงตามหลักที่เรียกว่า ต้องเคารพสิทธิ์ของแต่ละฝ่าย พร้อมยืนยันว่า ฝ่ายของตนก็ยึดหลักนิติธรรมที่เห็นว่าได้ลงชื่อ เนื่องจากพ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขพระราชกำหนดตามมาตรา 172 แห่งรัฐธรรมนูญ พวกตนก็มีข้อสงสัยและในสภาแห่งนี้ก็มีการพูดว่าพระราชกำหนดฉบับนี้ไม่ชอบด้วยมาตรา 172
นายชินวรณ์ กล่าวว่าในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีเหตุผลประกอบ เชื่อว่า เรื่องของการออกพระราชกำหนดที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 22 ,23 ,24 ,25 นั้น ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องตามพระราชบัญญัติอุ้มหายแต่ยังมีพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยต้องดำเนินการ ตนเป็นส.ส.ก็มีจิตสำนึกเช่นกันในหลักนิติธรรมหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการที่ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะฉะนั้น ตนอยากให้ผู้นำฝ่ายค้านได้เคารพสิทธิของฝ่ายพวกตนที่ได้ดำเนินการในการเข้าลงชื่อกันเพื่อให้ดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญที่มีเหตุผลสำคัญ 3 ข้อคือ 1.การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 173 และปราศจากข้อสงสัย 2.เป็นการร่นระยะเวลาที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนถ้าปล่อยไปให้ผ่านก็จะต้อง ชะลอ พ.ร.บ.นี้ออกไปอีก 6 เดือน แต่ถ้ายื่นศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาเพียง 2 เดือนที่จะมีคำวินิจฉัยออกมา และ 3. ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลได้ร่วมยื่นเสนอกฎหมายที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้เสนอ
จากนั้น นายชวน กล่าวขอบคุณ ส.ส.และข้าราชการสำนักงานลขาธิการสภาฯ ที่ร่วมทำงานหนักตลอด 4 ปีที่ผ่านมา โดยหวังว่า แม้ไม่มีโอกาสกลับมาทุกคน แต่ขอให้ส.ส.ส่วนใหญ่กลับมาทำหน้าที่ของตนเองต่อไป การเมืองไม่มีแน่นอน ฝ่ายค้านวันนี้อาจเป็นรัฐบาล คนเป็นรัฐบาลขณะนี้ อาจเป็นฝ่ายค้านในวันหน้า สิ่งสำคัญ คือการพูดอะไรไป ว่าไม่ดี วันนั้น ต้องไม่ดี อะไรที่ดีวันนี้ วันนั้นต้องดี ขออวยพรให้ประสบความสำเร็จ จากนั้น สมาชิกสภาฯ ได้ยืนเพื่อรับฟังพระบรมราชโองการปิดสมัยประชุม และปิดประชุมเวลา 13.41 น. -สำนักข่าวไทย