ทำเนียบ 21 ก.พ.- ครม. รับทราบการชี้แจงขั้นตอนรายละเอียดและข้อห้ามการปฏิบัติ หากเกิดการยุบสภา ย้ำ ยุบสภาภายในเดือนมีนาคมนี้แน่นอน
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบการชี้แจงจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในเรื่องไทม์ไลน์ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและระยะเวลารัฐบาลรักษาการจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันจะครบวาระในวันที่ 23 มี.ค. 66 ซึ่งตามรัฐธรมนูญกำหนดว่า หากครบวาระในวันที่ 23 มี.ค.66 ต้องจัดเลือกตั้งภายใน 45 วัน แต่หากกรณีที่มีการยุบสภารัฐธรรมนูญกำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน
นายอนุชา กล่าวว่า ไม่ว่าการยุบสภา หรือ ส.ส.ครบวาระ จะเกิดขึ้นภายในเดือนมีนาคมนี้อย่างแน่นอน ส่วนวันเลือกตั้งอยู่ในกรอบระยะเวลาของแต่ละกรณี แต่ขณะนี้คาดว่า การเลือกตั้งเกิดขึ้นต้นเดือนพฤษภาคม 2566 จากนั้นเป็นการประกาศผลประมาณต้นเดือนกรกฎาคม ที่จะประกาศผลรับรองส.ส. ทั้ง 500 คน จากนั้นจะเป็นขั้นตอนต่อไป คือการเสด็จพระราชดำเนินเปิดสภาฯ เป็นการตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร ประมาณกลางเดือน ก.ค. จากนั้น เป็นการเลือกนายกรัฐมนตรี คาดว่าจะเกิดขึ้นปลายเดือน ก.ค. และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และหลังได้นายกรัฐมนตรี ขั้นตอนต่อไปคือ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และจะได้คณะรัฐมนตรีช่วงเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้รัฐบาลทำหน้าที่รักษาการจนถึงประมาณ 4 เดือนครึ่งไปจนถึงต้นเดือนสิงหาคม 2566
อย่างไรก็ตาม สภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดลงตามระยะเวลา ไม่ว่าจะยุบสภาหรือสิ้นสุดวาระในวันที่ 23 มี.ค.นี้ ส่วนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะยังคงอยู่ แต่ประชุมไม่ได้ เว้นแต่พิจารณาตั้งองค์กรอิสระ ส่วนเรื่องกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ. ที่ค้างอยู่ในสภา มีจำนวน 29 ฉบับ ก็จะตกไปทันที แต่หลังการเลือกตั้ง หากรัฐบาลจะนำกลับมาพิจารณา สามารถดำเนินการได้ ในระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันเสด็จเปิดสภาฯ หากจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลสามารถออก พ.ร.ก.ได้
นายอนุชา กล่าวว่า ส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เมื่อพ้นตำแหน่งแล้วจะอยู่รักษาการต่อไป จนกว่าจะมีครม.ชุดใหม่ และกรณีรักษาการ หากมีรัฐมนตรีลาออกจะไม่กระทบต่อรัฐมนตรีทั้งหมด ครม.ยังสามารถประชุมได้ และนายกรัฐมนตรียังมีอำนาจปรับครม.ได้ หากมีความจำเป็น
ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรี จะต้องอยู่เงื่อนไขต่างๆ คือ ไม่อนุมัติงานหรือโครงการที่สร้างความผูกพันกับคณะรัฐมนตรีใหม่ ยกเว้นงบประมาณประจำปี ไม่แต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการ เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. และไม่อนุมัติการใช้งบกลาง เว้นแต่เห็นชอบจาก กกต. และต้องไม่ใช้ทรัพยากรหรือบุคลากรของรัฐที่มีผลต่อการเลือกตั้ง เช่น ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่เอาเปรียบพรรคการเมือง และต้องไม่จัดประชุมโดยใช้งบของรัฐ ต้องไม่มีการจัดประชุมครม.สัญจร เป็นต้น.สำนักข่าวไทย