รัฐสภา 21 ก.พ. – ก้าวไกลชี้มติที่ประชุม ส.ว. คว่ำญัตติ ส.ส. ตอกย้ำ ส.ว. เป็นอุปสรรคในการแก้รัฐธรรมนูญ เสนอแนวหน้าทำ รธน.ใหม่ หากก้าวไกลเป็นรัฐบาลทำภายใน 100 วันแรก
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กรุงเทพฯ เขตบางแค พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอญัตติ แถลงข่าวถึงกรณีที่ประชุม ส.ว. คว่ำญัตติส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)จัดประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า ตนไม่เห็นด้วยและผิดหวังกับการลงมติดังกล่าว ทั้งการที่อ้างว่าคณะกรรมาธิการชุดนี้ได้พิจารณาอย่างรอบด้าน หลายข้อห่วงใยที่เป็นบทสรุปของรายงานกรรมาธิการชุดนี้นั้น ตนเข้าไปตอบทุกข้อสงสัย แต่กลับไม่พบความเห็นของตนเองและนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เพื่อไทย ในรายงานการศึกษานี้เลยเป็นสิ่งที่เชื่อว่ากรรมาธิการชุดนี้ไม่ได้ศึกษาอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงที่มาของ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และในส่วนของการจัดทำประชามติพร้อมกับเลือกตั้งนั้นเป็นเพียงข้อเสนอและข้อสังเกตของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น หลักการและเหตุผลไม่ได้เป็นการบังคับว่าจะต้องมีการทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี พร้อมขอบคุณวุฒิสมาชิกทั้ง 12 คนที่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว ถ้าเชื่อในอำนาจสูงสุดของประชาชนก็ต้องไม่ขัดขวางญัตติดังกล่าว
ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการลงมติครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าวุฒิสภาปัจจุบันได้เป็นอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้ไม่นับการลงมติในวันนี้ก็จะเห็นว่ามีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาทั้งหมด 26 ร่างแต่มีเพียงร่างเดียวที่ผ่านได้ แต่ครั้งนี้หน้าผิดหวัง เพราะไม่ได้เป็นการรักษาคำพูดและรับผิดชอบคำพูดของตนเองที่ได้มีการกระทำในปี 2563 ที่เคยมีมติเห็นชอบในวาระรับหลักการให้มีการตั้ง ส.ส.ร. มาจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลายคนกังวลเรื่องการจัดทำประชามติที่อาจจะต้องมีประมาณ 3 ครั้ง ซึ่งเรื่องนี้เกิดจากการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญของ ส.ว. ว่าจำเป็นจะต้องจัดซ้ำอีก 2 ครั้งจึงจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ซึ่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าจะต้องจัดถึง 3 ครั้ง ส่วนข้อคิดเห็นที่ว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งของสังคมนั้น ตนมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 60 มากกว่าคือระเบิดเวลา ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งของสังคม
นายพริษฐ์ กล่าวเสนอการเดินหน้าการรณรงค์การรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในฐานะพรรคก้าวไกลว่า 1.ต้องการอาศัยเสียงของประชาชน 50,000 ชื่อ เพื่อยื่นให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดทำประชามติ ตอนนี้ยื่นเรื่องดังกล่าวไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว แต่ขณะนี้ยังติดในเรื่องการตรวจสอบรายชื่อ จึงขอเรียกร้องไปยัง กกต. ให้ยืนยันว่าจะสามารถรวมรายชื่อได้เพื่อดำเนินการต่อไป 2.ถ้าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการจัดทำประชามติก็สามารถทำได้เลย ซึ่งตนไม่เห็นเหตุผลอะไรที่รัฐบาลจะไม่เสนอให้มีการทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้ง ทั้งนี้ 3.หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจะใช้เวลาใน 100 วันแรก เพื่อจัดทำประชามติตั้ง ส.ส.ร. ทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ.-สำนักข่าวไทย