รัฐสภา 21 ก.พ.-วุฒิสภา คว่ำญัตติสภาฯ เสนอ ครม. ให้ทำประชามติถามความเห็นยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส.ว.เสียงแตก เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย หวั่นตกเป็นเครื่องมือการเมืองหากไม่หนุน ส่วนฝ่ายไม่ส่งชี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง
ผู้สื่อ่าวรายงานว่า การประชุมวุฒิสภาวันนี้ (21 ก.พ.) มีพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง เป็นประโนการประชุม ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในญัตติ ขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ พร้อมกับรายงานของคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ ที่เสนอโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล และ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ รายงานผลการศึกษาที่พบว่า เหตุผลที่เสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะมีที่มาจากการทำรัฐประหาร ยังไม่เป็นเหตุผลอันสมควร เนื่องจากรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับของประเทศไทยมีที่มาต่างกัน แต่สุดท้ายก็มีผลบังคับใช้เหมือนกัน และสามารถแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาในฉบับเดิมให้มีความเหมาะสมได้ และในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับ ส.ส.ร. อีกทั้งญัตติที่เสนอไม่ได้ระบุกรอบ ขอบเขต ที่ชัดเจน มีลักษณะมุ่งเพียงการตั้งคำถามแต่ไม่ได้มีสาระสำคัญที่แสดงถึงข้อบกพร่องเกี่ยวกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงอาจกระทบหลักการปกครอง และโครงสร้างของประเทศไทย ทั้งนี้การจัดทำประชามติ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มีกรอบคือไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วัน ดังนั้นจึงมีโอกาสน้อยที่การทำประชามติจะสามารถดำเนินการไปพร้อมกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นได้ แม้ว่ากฎหมายไม่ได้ห้าม และหากต้องดำเนินการทำประชามติต้องทำถึง 3 ครั้ง ครั้ง 3,500 ล้านบาท รวมแล้วต้องใช้งบประมาณมากกว่าหมื่นล้านบาท
นายสมชาย กล่าวว่า กรรมาธิการฯไม่ได้มีความขัดข้อง หากสังคมต้องการที่จะทำประชามติ และหากต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็สามารถทำได้ แต่ต้องพิจารณาถึงความถูกต้องมิให้ขัดหรือแย้งกับข้อกฎหมาย
ขณะที่การอภิปราย โดยสมาชิกมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับผลการศึกษาของกรรมาธิการฯ โดย นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ยืนยันจะรับญัตติ ที่เสนอมาจากสภาผู้แทนราษฎร พร้อมระบุเหตุผลว่า ญัตติดังกล่าวเป็นเพียงการสอบถามไม่ใช่การระบุถึงรายละเอียดและขั้นตอนตามที่กรรมาธิการฯได้สรุปรายงานมา ซึ่งสภามีหน้าที่ในการแจ้งเรี่อง และสุดท้ายคณะรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ดังนั้นขั้นตอนยังมีอีกมากโดยบทสรุปยังไม่ได้ชัดเจนว่าจะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแทน
เช่นเดียวกับนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ที่เห็นว่าควรจะส่งให้คณะรัฐมนตรี เพราะ ไม่มีความจำเป็นต้องขัดขวาง หากส.วไม่เห็นด้วย อาจเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองนำไปหาเสียงใส่ร้ายป้ายสี ส.ว. อ้างว่า ไม่เห็นเงาประชาชน มาจากเผด็จการสืบทอดอำนาจ ไม่ให้ความสำคัญประชาชน จะนำเหตุนี้ไปกล่าวอ้างช่วงหาเสียง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เขากำลังเอาเราเป็นเครื่องมือไปหยิบยกให้เขาสร้างคะแนนเสียง พร้อมย้ำเตือนว่า ญัตตินี้เป็นเพียงแค่ข้อเสนอทำประชามติเท่านั้น จะทำได้จริงหรือไม่อยู่ที่ ครม. เป็นผู้พิจารณา แต่เรากลับคิดแทนเขาไปหมดแล้ว หากไม่เอาด้วยกับฝ่ายค้านก็จะถูกหยิบยกไปโจมตีอีก แต่ผลสุดท้ายคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังอีกยาวไกล เวลา 5 ปีผ่านมา สมควรแล้วที่เราจะรับเรื่องนี้ไว้ แล้วส่งต่อให้ ครม. พิจารณาต่อไป
ส่วนนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. เห็นด้วยต่อมติของสภาฯ เพราะอำนาจการให้ทำประชามติ เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร หรือ ครม. ที่จะทำหรือไม่ทำ ไม่เกี่ยวกับรัฐสภา และต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้มา5 ปี สถาบันพระปกเกล้า นักวิชาการ และกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองของวุฒิสภาเห็นควรว่ามีหลายประเด็นที่ต้องแก้ไข ถ้าไม่ทำประชามติจะเริ่มนับหนึ่งได้อย่างไร ขณะที่ส.ว. จะหมดวาระอีกปีกว่า ควรมีส่วนร่วมในการแก้ไข ที่สำคัญ หากวุฒิสภาเห็นด้วยก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย แต่ถ้าไม่เห็นด้วยจะเสีย ภาพพจน์ของวุฒิสภาและเสีย โอกาสครั้งสุดท้ายในเวลา1 ปีที่เหลือ
ด้านกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา เห็นด้วยกับรายงานของกรรมาธิการที่ไม่ให้ส่ง ครม.เนื่องจากมองว่า การขอแก้ไขทำไปเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองที่ต้องการปลดล็อกจุดแข็งของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือการปราบโกง และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งของประชาชนรอบใหม่หากส่งรายงานดังกล่าวไปให้คณะรัฐมนตรี
พลตำรวจโท ศานิตย์ มหถาวร สมาชิกวุฒิสภา ได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์การที่จะทำประชามติมีถึง 7 หลักเกณฑ์ แต่หลักเกณฑ์สำคัญ 1 ข้อคือ สิ่งที่แก้ไขจะต้องเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ในตัวบุคคล/ธุรกิจการเมืองและถ้ามีการแก้โดยตั้งส.ส.ร.ก็ไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นและจะแก้ไขอะไรรวมทั้งค่าใช้จ่ายซึ่งมีถึง 1 หมื่นล้านบาทจะคุ้มหรือไม่
ดังนั้นถ้ามีการแก้ไขต้องไม่ให้เสียงบประมาณ ไม่ให้เสียหลักการและให้เห็นผลเป็นรูปธรรมก็ควรแก้ในมาตรา 256 หมวด1/ 2
พลอากาศตรี เฉลิมชัย เครืองาม สว. กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่ารัฐสภาไม่อาจทำนอกกรอบรัฐธรรมนูญ เพราะต้องผูกพันกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ต้องการยึดโยงรัฐธรรมนูญเพราะไม่มีถ้อยคำว่าส.ส.ร.ไม่มีคำว่าเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะเกิดความขัดแย้งในแผ่นดิน ขอให้นึกถึงกาลเทศะเป็นเรื่องที่สำคัญจะกลายเป็นระเบิดเวลาของความขัดแย้งทางการเมืองในแผ่นดินและหลังจากนี้จากมีการเสนอเรื่องต่างๆเข้ามาเป็นจำนวนมากจะเกิดความขัดแย้ง สภาวะเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะต้องใช้เงินถึงหมื่นล้านบาทที่ยังไม่เห็นผล ที่สุดแล้ว วุฒิสภา ลงมติ เห็นด้วย12 ไม่เห็นด้วย 157 ผลปรากฏว่ามติดังกล่าวถือว่าตกไปเพราะวุฒิสภาไม่เห็นชอบ เนื่องจากตามกฎหมายประชามติใหม่ ต้องให้ 2 สภาเห็นชอบ. สำนักข่าวไทย