ป่ารอยต่อ 23 ธ.ค.- “พล.อ.ประวิตร” ถก คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าพัฒนาการคมนาคม สร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อประโยชน์ประชาชน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2565 ที่ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีวว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมการประชุม
โดยคณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบรายงาน EIA ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในเกาะกระเต็น (แตน) จ.สุราษฎร์ธานี ตลอดจนเห็นชอบโครงการถนนตามผังเมืองสาย จ ผังเมืองรวมเมืองกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร ของกรมทางหลวงชนบท เพื่อพัฒนาโครงข่ายของถนนเลี่ยงเมืองให้มีความสมบูรณ์ เป็นรูปแบบระบบถนนวงแหวน (Ring Road) เพื่อรองรับการเดินทาง และ เห็นชอบโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา ของกรมทางหลวง เพื่อเป็นโครงข่ายถนนรองรับการเดินทางและขนส่งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
รวมทั้งยังให้ความเห็นชอบโครงการปรับปรุงขยายท่าอากาศยานบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ของกรมท่าอากาศยาน เพื่อรองรับการให้บริการเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ตามนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬาในระดับนานาชาติ อีกทั้งได้ให้ความเห็นชอบโครงการอ่างเก็บน้ำแม่บอม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ลำปาง ของกรมชลประทานเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตรอย่างยั่งยืน
พร้อมยังได้เห็นชอบโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย รวมทั้งได้เห็นชอบโครงการทำเหมืองแร่ชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่อทำปูนขาว) ของบริษัท จิระภัทรสโตน 2010 จำกัด ร่วมแผนผังโครงการทำเหมืองเดียวกันกับบริษัท ส.ศิลาทอง สระบุรี จำกัด จังหวัดสระบุรี เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ปูนขาวในอุตสาหกรรมปูนขาวในพื้นที่ภาคกลาง ตลอดจนเห็นชอบโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ต.เกาะกลาง – ต.เกาะลันตาน้อย จ.กระบี่ ของกรมทางหลวงชนบท เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยกำชับให้เจ้าของโครงการทั้ง 8 โครงการ ต้องดำเนินการตามมาตรการฯ ที่กำหนดในรายงานฯ อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมโดยการลด และ/หรือเลิกการผลิต การใช้ และการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (สาร POPs) รวมทั้งกำจัดให้หมดไป และแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วบริเวณห้วยคลิตี้ ระยะที่ 3 ปี พ.ศ. 2565 – 2568 ซึ่งเป็นการดำเนินงานในพื้นที่คลิตี้ต่อเนื่องจากแผนการดำเนินงานฯ ระยะที่ 2 เพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูการปนเปื้อนสารตะกั่วบริเวณห้วยคลิตี้.-สำนักข่าวไทย