รัฐสภา 19 ต.ค.-โฆษกกมธ.ป.ป.ช. แถลง “ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์” รับมีความสัมพันธ์กับส.ว.คนหนึ่งจริง แต่ไม่รู้ที่มาที่ถูกแต่งตั้งให้ทำงานในกมธ. 4 คณะ ต้องสอบเพิ่มก่อนสรุป
นายธีรัจชัย พันธุมาศ โฆษกคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ แถลงความคืบหน้ากรณีส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม ซึ่งทางคณะ กมธ.สอบข้อเท็จจริงมาระยะหนึ่งแล้ว และเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เชิญพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาลมาให้ข้อเท็จจริง 2 ครั้ง ทั้งในฐานะที่เป็นเจ้าของคดีและในฐานะผู้แทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงค่อนข้างชัดเจนทุกประเด็น ตั้งแต่การเข้ารับราชการ การย้ายไปสันติบาลและไปช่วยราชการที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 (ส่วนหน้า) แต่ในส่วนของเอกสารประกอบการพิจารณานั้น ยังไม่ได้ส่งมาเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก
นายธีรัจชัย กล่าวว่า คณะกมธ.ได้สอบข้อเท็จจริง ส.ต.ท.หญิงกรศศิร์ผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์จากเรือนจำจังหวัดราชบุรี และมีข้อเท็จจริงชัดเจนพอจะเปิดเผยได้ในบางกรณีคือส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ยอมรับว่ามีความสัมพันธ์กับสมาชิกรัฐสภาท่านหนึ่งตั้งแต่ปี 2555 – 2562 และยังติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง ส่วนกระบวนการการเข้ารับราชการได้อย่างไรนั้น พบว่าสมัครโดยบังเอิญแบบยกเว้นอายุจำนวน 2 ตำแหน่ง ส่วนการได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกมธ. 4 คณะ แต่ส.ต.ท.หญิงกรศศิร์ไม่ทราบที่มาของการแต่งตั้ง
“ประเด็นต่อมาการขอตัวไปช่วยราชการที่ กอ.รมน. ภาค4 (ส่วนหน้า) ยอมรับว่าส.ต.ท.หญิงกรศศิร์ไม่ได้ไปอยู่ที่นั่นจริง แต่อยู่ที่กรุงเทพมหานครและราชบุรี ส่วนการศึกษาดูงานต่างประเทศ ยอมรับว่าเดินทางไปจริง โดยจ่ายเงินค่าใช้จ่ายเองและมีผู้จ่ายให้ในบางส่วน อย่างไรก็ตาม ประเด็นต่าง ๆ ที่ได้สอบถามและได้รับข้อมูลในวันนี้ทำให้เห็นภาพของระบบอุปถัมภ์ในประเทศชัดเจนมากขึ้น จึงต้องสอบถามรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อหาข้อเท็จจริงและข้อสรุปต่อไป” นายธีรัจชัย กล่าว
นายธีรัจชัย กล่าวว่า ประเด็นต่อมา คณะ กมธ.ได้เชิญ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ มาให้ข้อมูลต่อคณะ กมธ. เพื่อประกอบการพิจารณากรณีนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทราบความคืบหน้าว่า ในบัญชีทรัพย์มรดกของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ไม่ปรากฏพบว่ามีนาฬิกาหรูดังกล่าว ตามที่ พล.อ.ประวิตรกล่าวอ้าง จึงเป็นเหตุให้ตั้งขอสงสัยว่านาฬิกาหรูนั้น ใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง พร้อมกันนี้ ขอถามไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าจะรื้อคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งหรือไม่ เพื่อคลายความสงสัยและไขข้อข้องใจของประชาชน ไม่ให้เกิดคำถามต่อองค์กรหลักที่มีหน้าที่ตรวจสอบความไม่โปร่งใสของประเทศ.-สำนักข่าวไทย