ทำเนียบ 18 ต.ค. – ครม. เห็นชอบข้อเสนอเพื่อกำหนดมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติดที่เป็นรูปธรรม เร่งสร้างความเชื่อมั่นประชาชน
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ มาตรการและกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติด โดยมีมาตรการระยะเร่งด่วนสำคัญ 4 มาตรการ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว นําไปใช้ได้จริงในการสร้างความปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ตลอดจนบูรณาการการทํางานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.มาตรการเกี่ยวกับอาวุธปืน ได้แก่ (1) การอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน เช่น เพิ่มเติมเอกสารใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองจากต้นสังกัด/นายจ้าง (2) การจัดการอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต โดยผ่อนผันให้ผู้ครอบครองนําอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาต/หรือที่มีกฎหมาย ห้ามออกใบอนุญาตมาส่งมอบให้แก่ภาครัฐหรือนํามาขึ้นทะเบียน (3) การป้องกันและปราบปรามในเชิงรุก เช่น ตรวจจับการค้าอาวุธที่ไม่ได้รับอนุญาต (4) มาตรการทางดิจิทัล เช่น การป้องกันการค้าอาวุธปืนบนแพลตฟอร์มดิจิทัล
2.มาตรการด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เช่น การควบคุมสารเคมีที่นำใช้ผลิตยาเสพติด การทำลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติดและยึดทรัพย์ ติดตามจับกุมผู้มีหมายจับคดียาเสพติด การค้นหาผู้ติดยาเสพติดทั่วประเทศ การติดตามข้อร้องเรียนประชาชน การทบทวนผู้เสพเป็นผู้ป่วย และการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM)
3.มาตรการด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ประกอบด้วย ระยะเร่งด่วน ค้นหาและคัดกรองผู้ป่วยจิตเวช ระยะกลาง เร่งรัดจัดตั้งสถานฟื้นฟูสมรรถภาพ และระยะต่อเนื่อง โดยใช้ชุมชนเป็นฐานบำบัดยาเสพติด
4 มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต เช่น การพัฒนาเครือข่ายในและนอกระบบสุขภาพ และการพัฒนาเครือข่ายในชุมชน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงมาตรการต่างๆ ที่ออกมามีความครอบคลุมในการแก้ปัญหา แต่ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด โดยนายกรัฐมนตรีกำชับว่าสิ่งใดที่สามารถดำเนินการได้ขอให้ทำทันที และให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนภายใน 3 เดือน ต้องตรวจสอบดำเนินการให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นไปตามกฏหมาย โดยหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ต้องขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติเพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน สามารถป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมในระยะเร่งด่วน ขณะที่เน้นย้ำหน่วยงานในท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ ให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วย และให้มีการรายงานผลดำเนินงานให้ทราบภายในกรอบเวลาที่เหมาะสมต่อไป.-สำนักข่าวไทย