กทม. 30 ก.ย. – ไปดูแนวทางการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา และแนวปฏิบัติหลังทราบคำวินิจฉัย
นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายถึงขั้นตอนการพิจารณาของศาล ดังนี้ ถ้าข้อเท็จจริงพยานหลักฐานต่าง ๆ เพียงพอต่อการพิจารณา ก็ให้ศาลยุติการแสวงหาพยานหลักฐาน กำหนดประเด็นวินิจฉัย ศาลนัดอ่านคำแถลงของตุลาการแต่ละคนในที่ประชุม ปรึกษาหารือ และลงมติ ถ้าเป็นคำร้องที่มีคู่กรณี โดยประเพณีปฏิบัติ ศาลจะลงมติในช่วงเช้า และอ่านในช่วงเย็นหรือบ่าย “การที่ศาลจะอ่าน ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในระหว่างการไต่สวน ศาลจะนัดล่วงหน้า โดยมีกรอบเวลาขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 7 วัน ให้คู่ความมาฟังศาลอ่านคำวินิจฉัย”
ก่อนหน้า วันที่ 14 ก.ย. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ได้ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาคดีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่าคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ และกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในวันนี้ 30 ก.ย. เวลา 15.00 น.
มาดูแนวทางของศาล 2 ทาง คือ
กรณีแรก ศาลวินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ไปต่อ คือ มีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 158 วรรคสี่
พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีสถานะรักษาการนายกรัฐมนตรี แต่อาจเลือกที่จะไม่ทำหน้าที่รักษาการก็ได้ ส่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะยังมีอำนาจเต็ม จนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ต่อ
จากนั้นต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้ ส.ว. ร่วมกับ ส.ส. ให้ความเห็นชอบแต่งตั้งนายกฯ ในช่วง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
การเลือกนายกฯ ให้เลือกจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตอนเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 ซึ่งขณะนี้เหลือบุคคลที่ยังมีคุณสมบัติครบถ้วน และยังไม่แจ้งความประสงค์ขอถอนตัว ประกอบด้วย นายชัยเกษม นิติสิริ จากบัญชีพรรคเพื่อไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากบัญชีพรรคภูมิใจไทย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากบัญชีพรรคประชาธิปัตย์
มีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ 48 คน จาก ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 478 คน
การลงคะแนนเลือกนายกฯ ต้องกระทำโดยเปิดเผย ลงมติด้วยการขานชื่อ และต้องได้รับเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ 364 คน จากสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 727 คน (ส.ส. 478 คน และ ส.ว. 249 คน)
หากไม่สามารถเลือกนายกฯ ในบัญชีของพรรคการเมืองได้ ให้สมาชิกทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือ 364 คน เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้มีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเลือกนายกฯ ในบัญชีได้ โดยต้องใช้มติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ 484 คน
จากนั้นเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกฯ คนใหม่ โดยจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง หรือนอกบัญชีพรรคการเมืองก็ได้
ส่วนทางที่ 2 คือ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ไปต่อ
พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ จะอยู่จนครบวาระในเดือน มี.ค. 2566 หรือจะประกาศยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปก็ได้ และมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมืองได้อีก แต่ต้องรอดูการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ไปแล้วกี่ปี. – สำนักข่าวไทย