ภาคใต้ 2 ก.ย. – “เฉลิมชัย” ควง “นิพนธ์” ประกาศยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร ในพื้นที่จังหวัดชายแเดนใต้ หวังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมการประชุมการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล และการขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมรับฟังความก้าวหน้า พร้อมมอบนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล และการขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถนนสิโรรส อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พร้อมด้วย พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีเศษที่ผ่านมา ศอ.บต., กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สภาเกษตรกรแห่งชาติ, สถาบันการศึกษา, ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมมือผลักดันการทำงานเชิงนโยบายและการปฏิบัติในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถยกระดับอาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกรให้สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมที่จะยกระดับงานทั้งหมดเข้าสู่กรอบ “ความมั่นคงทางอาหาร” ต่อไป
สอดคล้องกับเมื่อช่วงที่ผ่านมา ที่ศาลากลางจังหวัดยะลา ในช่วงการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้
นายนิพนธ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ปัจจุบัน การสร้างให้คนมีอาชีพ เร่งรัดให้คนมีรายได้ จะเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืน โดยการสร้างความมั่นคงทางด้านพื้นที่ควบคู่กับความมั่นคงทางด้านอาหาร เพราะพื้นที่ใน 3 จังหวัดภาคใต้ เหมาะสมกับการดำเนินนโยบายดังกล่าว และถ้าหากเราทำเรื่องเกษตรให้เข้มแข็ง ก็จะเกิดการกระจายรายได้ที่ดีที่สุด เราต้องมาคิดว่าทำอย่างไรให้ยางกิโลกรัมละ 60-70 บาท คนที่มีสวนยางได้ประโยชน์ทั้งหมด ซึ่งตนเชื่ออย่างนี้ ถ้าเกษตรกรมีรายได้ดีก็จะเกิดเงินหมุนเวียนในตลาด แม่ค้าขายของได้ นี่คือเศรษฐกิจพื้นบ้าน
อย่างในเรื่องประมง ซึ่งความจริงกระทรวงเกษตรฯ มีกรมประมงอยู่ด้วย ถ้าดูตั้งแต่การวางปะการังเทียมอย่างไร จะดูแลอนุรักษ์กันอย่างไร เช่นจากปัตตานีเข้ามาถึงยะลา แต่ยะลาไม่มีประมง ก็ให้หันมาเลี้ยงปลาในกระชังดูว่าจะได้หรือไม่ ถ้าได้จะเลี้ยงที่ไหน นี่คือการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงปลากระชัง เมื่อมาถึงประมงก็ต้องมีนาข้าว มีแปลงผลไม้ ซึ่งยะลาถือว่าทำการเกษตรได้เลย เป็นศูนย์กลางของเมืองที่จะผลิตอาหาร ซึ่งยังเป็นห่วงในเรื่องของนาร้าง และถ้าสามารถผลิตข้าวได้เองจะได้ไม่ต้องเอาข้าวนอกพื้นที่เข้ามา เพราะสามารถมีข้าวรับประทานได้เอง ดังนั้น เกษตรต้องวิจัยให้ได้ว่าพื้นที่ตรงนี้ ถ้ามีน้ำจะปลูกข้าวชนิดใดได้บ้าง ซึ่งก็ต้องฝากเกษตรจังหวัดไปดูในเรื่องนี้ เราจะต้องช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน เพราะตนต้องการให้จังหวัดชายแดนภาคใต้พื้นที่ตรงนี้ เป็นพื้นที่ที่มีความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งนั่นคือที่ดินกับน้ำต้องพร้อม ระบบชลประทานจึงต้องมีการพัฒนา เพื่อไปสนับสนุนกิจการนาร้าง ซึ่งมีอยู่ร่วมสองแสนกว่าไร่ ว่าเกษตรกรขาดอะไร ดังนั้น เกษตรจังหวัด และเกษตรอำเภอจึงต้องมีการสำรวจว่าพื้นที่ที่เป็นนาร้างในจังหวัดยะลา มีกี่แสนไร่ เพื่อจะดูว่าถ้าจะเอาน้ำไปสนับสนุนต้องทำอย่างไร และรัฐต้องลงทุนเท่าไร เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในพื้นที่ที่จะแปลงนาร้างให้เป็นนาข้าว รวมถึงแปลงเกษตร จึงขอฝากเรื่องนี้ไว้ด้วย เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่.-สำนักข่าวไทย