สำนักข่าวไทย 16 พ.ย. 63 – สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ แนะนำโรคพยาธิหอยคัน หลังระบาดในภาคใต้ ไม่ใช่โรคติดต่อจากคนสู่คน ไม่ใช่โรคอันตราย สามารถหายเองได้ โดยสาเหตุเกิดจากพยาธิหอยคันที่อยู่ในน้ำ พร้อมแนะนำวิธีป้องกันอันตรายจากพยาธิหอยคัน
โรคพยาธิหอยคันหรือโรคคันน้ำ เกิดจากอะไร
เกิดจากพยาธิตัวอ่อนระยะเซอคาเรียของพยาธิใบไม้ของสัตว์ เช่น วัว ควาย เนื่องจากมีพยาธิมีแหล่งที่อยู่เป็นสัตว์ คนเราไม่ใช่แหล่งที่อยู่ของพยาธิ พยาธิไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยได้ เมื่อพยาธิเข้าสู่ร่างกายก็มักจะตายหลังจากไชไประยะเวลาหนึ่ง
ลักษณะอาการ
- เมื่อพยาธิไชไปตามผิวหนังก็กระตุ้นให้เกิดอาการทางผิวหนัง คันตามตัว ตุ่มแดงคล้ายแมลงกัด ผื่นแดง มีตุ่มน้ำใส
- ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการแพ้มากเป็นพิเศษ ทำให้เกิดตุ่มจำนวนมาก ยิ่งทำให้เกิดอาการคันมากยิ่งขึ้น
พยาธิเหล่านี้จะมีวงจรชีวิตช่วงหนึ่งที่อาศัยอยู่ในหอยคัน เมื่อพยาธิเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายของเราจะไม่เป็นอันตรายเนื่องจากไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่จะก่อให้เกิดความรำคาญจากอาการคัน
การรักษา
รักษาตามอาการ ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการคันมาก ๆ และมีผื่นลุกลามให้ใช้ยาทาแก้คันพวกคาลาไมด์ หรือสเตียรอยด์ครีมทาบริเวณที่คัน หรือรับประทานยาแก้แพ้ แต่ถ้ามีอาการเล็กน้อยก็ไม่ต้องรักษา อาการเหล่านี้จะหายไปเองภายในเวลา 14 วัน
การป้องกันไม่ให้พยาธิหอยคันเข้าสู่ร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำที่มีพยาธิอาศัยอยู่
- ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ใช้อุปกรณ์ป้องกัน ใส่รองเท้าบูท
- อาจจะใช้วิธีป้องกันจากภูมิปัญญาชาวบ้านโดยทาน้ำมันพืช บริเวณแขนขาก่อนลงสู่แหล่งน้ำแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้พยาธิหอยคันมาเกาะที่ผิวหนัง
- ล้างตัวทำความสะอาดอย่างรวดเร็วหลังจากสัมผัสกับแหล่งน้ำที่คาดว่าจะมีตัวอ่อนพยาธิ
แม้ว่าพยาธินี้จะไม่เป็นอันตรายและไม่ใช่โรคติดต่อจนทำให้เสียชีวิต แต่ก็จะทำให้เกิดปัญหาโรคผิวหนังและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นจำนวนไม่น้อย.-สำนักข่าวไทย
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. แพทย์ผิวหนังแนะนำโรคพยาธิหอยคัน ผิวหนังอักเสบแต่ไม่อันตรายถึงชีวิต. (ออนไลน์). สืบค้น 16 พฤศจิกายน 2563, จาก https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/149789