กรุงเทพฯ 27 ต.ค. – อธิบดี ทช. เผยผลศึกษาแนวทางแก้ปัญหาหญ้าทะเลที่เกาะลิบงตายเป็นเนื้อที่ 400 ไร่ ซึ่งร่วมกับภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย โดยห้ามหน่วยงานที่ขุดลอกร่องน้ำนำโคลน ทราย และหินมาทิ้งในทะเล แล้วเร่งปลูกฟื้นฟูหญ้าทะเลให้กลับมาสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารของพะยูนและสัตว์น้ำอื่นๆ
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 รายงานความคืบหน้าเรื่องการตายของหญ้าทะเล พื้นที่เกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรังว่า ร่วมกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ปลัดอำเภอกันตัง ประมงอำเภอกันตัง สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง กลุ่มพิทักษ์ดุหยง ผู้นำท้องท้องถิ่น และชาวบ้านตำบลเกาะลิบงตรวจสอบแหล่งหญ้าทะเลระหว่างอ่าวทุ่งจีน – หาดตูบพบว่า หญ้าทะเลชนิดหญ้าชะเงาใบยาวตายเป็นบริเวณวงกว้าง เนื้อที่ประมาณ 400 ไร่
คณะผู้ตรวจสอบเห็นร่วมกันว่า จากนี้ไปจะไม่ให้หน่วยงานเจ้าท่าที่ขุดลอกร่องน้ำและแม่น้ำต่างๆ นำโคลน ทราย และหินมาทิ้งในทะเล โดยเฉพาะบริเวณแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญ โดยต้องนำไปทิ้งบนฝั่งเท่านั้น พร้อมเสนอแผนฟื้นฟูแหล่งหญ้าชะเงาใบยาวเพื่อลดผลกระทบต่อการอยู่อาศัยของสัตว์น้ำประเภท กุ้ง หอย ปู ปลา เป็นต้น ส่วนการสำรวจพบว่าในสภาพพื้นที่ที่เป็นดินทรายมีหญ้าใบมะกรูดขยายเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นหญ้าที่พะยูนกินเป็นอาหารหลักจึงยังไม่กระทบต่อพะยูนที่เป็นสัตว์ป่าสงวนใกล้สูญพันธุ์
นายโสภณ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ตลอดจนรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน โดยจะทำแผนเร่งปลูกฟื้นฟูหญ้าทะเลให้กลับสู่สภาพเดิม จากนั้นติดตามและศึกษาผลการฟื้นฟูหลังจากที่ปลูกไปเป็นระยะในเวลา 3 ปี ทั้งการฟื้นตัวของแหล่งหญ้าและความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลประเภท กุ้ง หอย ปู ปลาบริเวณที่ฟื้นฟูแหล่งหญ้า นอกจากนี้จะทำศึกษาและเก็บตัวอย่างปัจจัยคุกคามที่อาจทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรมและตายได้เช่น มลพิษที่เกิดน้ำเสียจากแหล่งต่างๆ ที่ลงมาจากแม่น้ำและชุมชนบริเวณที่ติดต่อกับแนวแหล่งหญ้าทะเล ตะกอนดินจากพังทลายของหน้าดินจากแหล่งที่สูงแล้วพัดพาเอาตะกอนดินลงมาในทะเล ที่สำคัญคือ จะกำหนดให้ต้องศึกษาผลกระทบสำหรับโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่มาดำเนินการภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ตามระเบียบและขั้นตอนของกฎหมายก่อนดำเนินการการ
“สำหรับการขุดลอกของกรมเจ้าท่าพื้นที่แม่น้ำตรัง ประจำปีงบประมาณ 2564 ทุกภาคส่วนนัดหมายในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ในพื้นที่ดำเนินการเพื่อทำประชาคมเรื่องจุดทิ้งตะกอนบนฝั่ง โดยต้องได้รับการยอมรับจากชาวบ้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด” นายโสภณกล่าว . – สำนักข่าวไทย