กรุงเทพฯ 30 มิ.ย. – สทนช.เผยแนวโน้มฝนตกหนัก ส.ค.–ต.ค. เสี่ยงพายุเข้าไทย เตรียมแผนรับมือเชิงรุก ทั้งแจ้งเตือน–พร่องน้ำ–ตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ
ดร. สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงฝนตกชุกที่สุดของปี เสี่ยงเผชิญพายุหมุนเขตร้อน 1–2 ลูก โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีโอกาสเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ พร้อมเผยแผนรับมือทั้งระบบ ตั้งแต่แจ้งเตือนล่วงหน้า เสริมคันกั้นน้ำ เตรียมศูนย์บริหารน้ำ และจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวทั่วประเทศ
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ฝนจะตกชุกหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นช่วงที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น และอาจได้รับอิทธิพลจากพายุหมุนเขตร้อน โดยเฉลี่ย 1–2 ลูกในแต่ละปี
สทนช. ได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและน้ำท่วมฉับพลันไว้ล่วงหน้า พบว่า
- กรกฎาคม 2568: เสี่ยงใน 18 จังหวัด 55 อำเภอ 203 ตำบล
- สิงหาคม: เสี่ยงเพิ่มเป็น 29 จังหวัด 125 อำเภอ 348 ตำบล
- กันยายน: เสี่ยงสูงขึ้นอย่างมาก เป็น 50 จังหวัด 281 อำเภอ 1,038 ตำบล
- ตุลาคม: เสี่ยงสูงสุด 54 จังหวัด 342 อำเภอ 1,604 ตำบล
- พฤศจิกายน: ยังคงเสี่ยงใน 37 จังหวัด 204 อำเภอ 962 ตำบล
สำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อเนื่องหลายเดือน ได้แก่ จังหวัดในลุ่มน้ำโขง ภาคเหนือตอนบน ภาคกลางตอนล่าง และพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลตะวันออก
สทนช. ได้ดำเนินการตาม 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 อย่างต่อเนื่อง อาทิ
- คาดการณ์และแจ้งเตือนล่วงหน้า
- ทบทวนแผนบริหารอ่างเก็บน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์
- ตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อน คันกั้นน้ำ พนังกั้นน้ำ และทำนบ รวม 467 แห่ง
- ขุดลอกคูคลอง 251.74 กิโลเมตร ลอกท่อ 3,664 กิโลเมตร กำจัดวัชพืชกว่า 4.56 ล้านตัน
- จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยง เช่น เชียงราย ระยอง และเตรียมเปิดที่หนองคาย
- เตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราวทั่วประเทศกว่า 10,000 แห่ง
- ให้ประชาชนติดตามสถานการณ์และแจ้งเหตุผ่าน Line Official “ไทยคู่ฟ้า” และแอปพลิเคชัน ThaiWater
ในด้านการดำเนินการเชิงรุก สทนช. ได้ลงพื้นที่แล้วใน 32 จังหวัด เช่น ลุ่มน้ำโขงเหนือ ได้แก่ ลำปาง พะเยา เชียงราย และลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สกลนคร นครพนม บึงกาฬ หนองคาย เพื่อทบทวนและปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง พร้อมเร่งระบายน้ำล่วงหน้าให้ไม่เกิน 80% ของความจุอ่าง ลดความเสี่ยงพื้นที่ท้ายเขื่อนก่อนฝนตกชุกช่วง ส.ค.–ต.ค. 512 – สำนักข่าวไทย