28 เมษายน 2568
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในต่างประเทศ เมื่อมีการอ้างว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือองค์การ NASA เคยส่งยานอวกาศไปพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยที่จะพุ่งชนโลกมาแล้ว ส่วนบางกระแสก็อ้างว่าคลิปวิดีโอที่ NASA ใช้ยืนยันหลักฐานการพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยเป็นของปลอม

บทสรุป :
1.ภารกิจ DART ของ NASA มีจุดประสงค์ใช้การพุ่งชนเพื่อเปลี่ยนวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย
2.ดาวเคราะห์น้อยที่ทดลองในภารกิจ DART ไม่มีความเสี่ยงพุ่งชนโลกแต่อย่างใด
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
แม้องค์การ NASA จะเคยส่งยานอวกาศไปพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยจริง แต่ดาวเคราะห์น้อยดวงดังกล่าวไม่ได้กำลังพุ่งชนโลกตามที่กล่าวอ้าง
ส่วนคลิปวิดีโอการพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย ถูกทำให้เร็วขึ้น 10 เท่าจากความเป็นจริง และถ่ายมาจากยานอวกาศไปพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยจริง ๆ
ภารกิจ DART
Double Asteroid Redirection Test (DART) คือภารกิจที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างองค์การ NASA และศูนย์วิจัยฟิสิกส์ประยุกต์ของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา ในการทดลองใช้การพุ่งชนด้วยอัตราเร็วสูง (Kinetic Impacts) เปลี่ยนวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย เพื่อใช้เป็นแนวทางป้องกันเหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกในอนาคต
ภารกิจ DART ได้รับเงินทุน 325 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากสำนักงานความร่วมมือเพื่อปกป้องโลกหรือ Planetary Defense Coordination Office ของ NASA
Dimorphos เป้าหมายภารกิจ DART
ดาวเคราะห์น้อยที่ถูกเลือกในภารกิจ DART ได้แก่ Dimorphos ดาวเคราะห์น้อยที่เป็นดวงจันทร์บริวารของ Didymos ดาวเคราะห์น้อยเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 765 เมตร ซึ่งวงโคจรที่ใกล้กับโลกที่สุดอยู่ไกลถึง 6 ล้านกิโลเมตร (เคยเดินทางมาใกล้โลกในปี 2003 ที่ระยะทาง 7.18 ล้านกิโลเมตร และคาดว่าจะกลับมาใกล้โลกอีกครั้งในปี 2123 ที่ระยะทาง 5.86 ล้านกิโลเมตร)
ส่วน Dimorphos ซึ่งเป็นเป้าหมายของภารกิจ DART มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 150 เมตร
เริ่มภารกิจเปลี่ยนวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย
ภารกิจ DART เริ่มต้นจากการส่งยานอวกาศออกจากโลกในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2021 ก่อนจะพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย Dimorphos สำเร็จในวันที่ 26 กันยายน 2022
ยานที่ใช้พุ่งชนดาวเคราะห์น้อย Dimorphos มีน้ำหนัก 500 กิโลกรัม เพื่อพุ่งชนด้วยความเร็ว 22,530 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ 6.6 กิโลเมตรต่อวินาที ทำให้แรงพุ่งชนมีพลังงานเท่ากับ 11 กิกกะจูลหรือเท่ากับแรงระเบิด TNT ปริมาณ 3 ตัน
Dimorphos เปลี่ยนวงโคจร
ปกติแล้ว ดาวเคราะห์น้อย Dimorphos จะใช้เวลาโคจรรอบดาวเคราะห์น้อย Didymos เป็นเวลา 11 ชั่วโมง 55 นาที แต่ภารกิจ DART ทำให้ Dimorphos โคจรเร็วขึ้น
แต่เดิม NASA คาดว่าผลจากการพุ่งชน จะทำให้เวลาโคจรของดาวเคราะห์น้อย Dimorphos เร็วขึ้นประมาณ 73 วินาที
แต่เมื่อตรวจสอบภายหลังพบว่า เวลาโคจรของดาวเคราะห์น้อย Dimorphos รอบดาว Didymos ลดลงเหลือเพียง 11 ชั่วโมง 23 นาที
เท่ากับว่าภารกิจ DART ทำให้การโคจรของดาวเคราะห์น้อย Dimorphos เปลี่ยนเส้นทาง ทำให้เวลาโคจรเร็วกว่าเดิมถึง 32 นาที หรือเร็วกว่าที่คาดไว้ถึง 25 เท่า
บิล นิลสัน ผู้บริหารขององค์การ NASA กล่าวถึงความสำเร็จของภารกิจ DART ว่า มนุษยชาติมีหน้าที่ปกป้องโลก ที่เปรียบเสมือนบ้านหลังเดียวของเราในจักรวาล ความสำเร็จของภารกิจ DART เป็นสิ่งยืนยันว่า NASA เตรียมพร้อมรับมือกับทุกสิ่งที่มุ่งหน้ามายังโลกของเรา
อย่างไรก็ดี ตลอดภารกิจ DART ทาง NASA ย้ำอยู่เสมอว่า ดาวเคราะห์น้อย Didymos และ Dimorphos ที่ใช้ทดลองในภารกิจ DART ไม่มีความเสี่ยงที่จะพุ่งชนโลกแต่อย่างใด
ดังนั้นการอ้างว่า NASA ใช้ยานชนดาวเคราะห์น้อยที่จะพุ่งชนโลก จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่เป็นความจริง
ส่วนข้ออ้างว่า NASA ปลอมแปลงคลิปวิดีโอขึ้นมาเพื่อใช้ประกอบภารกิจ DART ก็ได้รับการยืนยันจาก NASA ว่า หลักฐานที่นำเสนอคือคลิปวิดีโอที่ถ่ายโดยยานที่พุ่งชนดาวเคราะห์น้อย Dimorphos นั่นเอง
บทความ DART’s Final Images Prior to Impact จากเว็บไซต์ของ NASA ระบุว่า ภาพวิดีโอการพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย Dimorphos ถูกเร่งความเร็วกว่าปกติ 10 เท่า ยกเว้น 6 ภาพสุดท้ายก่อนพุ่งชนที่นำเสนอตามเวลาจริง
ภาพเต็มรูปสุดท้าย คือภาพพื้นผิวดาวเคราะห์น้อย Dimorphos ในระยะทาง 11.2 กิโลเมตร หรือก่อนการพุ่งชนในอีก 2 วินาทีต่อมา
ภาพและวิดีโอที่ถูกบันทึกทั้งหมดได้ถูกส่งสัญญาณมายังโลก และเผยแพร่ในช่วงเดือนกันยายน 2022
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.usatoday.com/story/news/factcheck/2022/09/28/fact-check-no-nasa-did-not-block-asteroid-hitting-earth/10444526002/
https://www.politifact.com/factchecks/2022/sep/29/instagram-posts/nasas-footage-dart-spacecraft-crashing-itself-aste/
https://www.nasa.gov/news-release/nasa-confirms-dart-mission-impact-changed-asteroids-motion-in-space/
https://en.wikipedia.org/wiki/Double_Asteroid_Redirection_Test
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter